แคสเปอร์สกี้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดเรื่อง Mobile Malware Evolution 2020 แสดงการตรวจจับมัลแวร์บนอุปกรณ์โมบายในประเทศไทยจำนวน 28,861 ครั้งในปี 2020 อยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก โดยอินโดนีเซียครองอันดับ 4 ของโลก และครองอันดับสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยมาเลเซีย (อันดับที่ 17) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 30) เวียดนาม (อันดับที่ 43) และสิงคโปร์ (อันดับที่ 86)
สำหรับบริการธนาคารบนอุปกรณ์โมบายและการใช้แอปการชำระเงิน ประเทศไทยได้รับตำแหน่งสำคัญในชาร์ตการจัดอันดับทั่วโลก จากรายงาน Digital 2020 ล่าสุดของ We Are Social ระบุว่าประเทศไทยครองอันดับหนึ่งของโลกด้านการใช้งานแอปบริการธนาคารและการเงิน คิดเป็น 68.1% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงอายุ 16-64 ปี
รายงานฉบับเดียวกันนี้เปิดเผยว่า ประเทศไทยครองอันดับสองด้านการชำระเงินผ่านอุปกรณ์โมบาย โดยมีผู้ใช้งานจำนวน 45.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 30.9% นอกจากนี้ประเทศไทยยังครองอันดับสองด้านการใช้งานโมบายคอมเมิร์ซ โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 74.2% อินโดนีเซียครองอันดับสูงสุดด้วยผู้ใช้ 79.1% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 55.4%
อัตราการใช้งานอุปกรณ์โมบายที่สูงนี้เรียกความสนใจจากอาชญากรไซเบอร์ สถิติมัลแวร์สำหรับอุปกรณ์โมบายปี 2020 ของแคสเปอร์สกี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการตรวจจับมัลแวร์บนอุปกรณ์โมบายจำนวน 28,861 ครั้งในปีที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังมีภัยไซเบอร์ที่คุกคามผู้ใช้ในประเทศไทยที่ใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น
นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี้ยังบล็อกโทรจันธนาคารบนอุปกรณ์โมบาย 255 รายการในประเทศไทยในปี 2020 ด้วย
โมบายโทรจันบนอุปกรณ์โมบายเป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่น และอันตรายที่สุด โดยทั่วไปจะขโมยเงินโดยตรงจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้งานอุปกรณ์โมบาย แต่บางครั้งจุดประสงค์ของโทรจันก็เปลี่ยนไปเป็นการขโมยข้อมูลประเภทอื่นๆ มัลแวร์จะดูเหมือนแอปที่ถูกต้องทั่วไป เช่น แอปพลิเคชั่นของธนาคาร เมื่อเหยื่อพยายามเข้าถึงแอปธนาคาร ผู้โจมตีก็สามารถเข้าถึงแอปนั้นได้เช่นกัน
นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของแคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “อาชญากรไซเบอร์มีกลยุทธ์หลายอย่างในมือ เช่น การหลอกล่อให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอป e-wallet ปลอมที่ดูถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วเป็นมัลแวร์ที่มีเป้าหมายในการแพร่ระบาดบนสมาร์ทโฟนที่ใช้สำหรับการชำระเงินดิจิทัล ผู้โจมตีจะคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเข้ารุกล้ำแพลตฟอร์ม e-wallet และด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง บวกกับช่วงเทศกาล เราจึงได้เห็นกลเม็ดวิศวกรรมสังคมอื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น ฟิชชิ่งและกลโกงเพื่อหลอกล่อจิตใจมนุษย์”
“มาตรการปิดกั้นและการแยกตัวเองในระหว่างการแพร่ระบาดอาจส่งผลต่อจำนวนมัลแวร์อุปกรณ์โมบายที่ตรวจพบในประเทศไทย แต่ผู้ใช้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ตราบใดที่เราใช้อุปกรณ์โมบายในการทำธุรกรรมทางการเงิน เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับลิงก์ที่เราคลิก แอปที่เราดาวน์โหลด เว็บไซต์ที่เราเข้าดู เราควรรักษาความปลอดภัยให้กับสมาร์ทโฟนเช่นเดียวการรักษากระเป๋าเงิน บัตรเดบิตและบัตรเครดิตของเราให้พ้นมือโจร” นายคริสกล่าวเสริม
ตัวเลขทั่วโลกในปี 2020 ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอุปกรณ์โมบายของแคสเปอร์สกี้ตรวจพบแพ็กเกจการติดตั้งที่เป็นอันตรายจำนวน 5,683,694 แพ็กเกจ ซึ่งมากกว่าปี 2019 ถึง 2,100,000 รายการ และตรวจพบโทรจันบนอุปกรณ์โมบายใหม่ 156,710 รายการ ซึ่งเป็นตัวเลข 2 เท่าของปีก่อน
แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์โมบายในประเทศไทย ดังนี้
- ดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชั่นจากร้านค้าแอปอย่างเป็นทางการเท่านั้น เช่น Google Play บนอุปกรณ์ Android หรือใน App Store บน iOS
- ปิดใช้งานฟังก์ชั่นสำหรับการติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่รู้จักในเมนูการตั้งค่าของสมาร์ทโฟน
- อย่ารูทอุปกรณ์ เพราะจะทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถโจมตีได้อย่างไร้ขีดจำกัด
- ติดตั้งการอัปเดตระบบและแอปพลิเคชชั่นทันทีเพื่อแก้ไขช่องว่างด้านความปลอดภัย ไม่ควรดาวน์โหลดการอัปเดตระบบปฏิบัติการอุปกรณ์โมบายจากแหล่งข้อมูลภายนอก
- เอาใจใส่รายละเอียดทางการเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งข้อสงสัยเสมอเพื่อความระมัดระวังตัว
- ใช้โซลูชั่นความปลอดภัยที่เชื่อถือได้เช่น Kaspersky Security Cloud เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่หลากหลาย