Home Marketing ไทยซับคอน เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคการผลิต พร้อมอัพสกิลสมาชิกกว่า 400 โรงงาน เพิ่มโอกาสทางการค้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve

ไทยซับคอน เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคการผลิต พร้อมอัพสกิลสมาชิกกว่า 400 โรงงาน เพิ่มโอกาสทางการค้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve

0
ไทยซับคอน เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคการผลิต พร้อมอัพสกิลสมาชิกกว่า 400 โรงงาน เพิ่มโอกาสทางการค้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve

จากชมรมส่งเสริมผู้รับช่วงการผลิต ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มสมาชิกผู้ผลิตชิ้นส่วน เน้นพันธกิจผู้ซื้อพบผู้ขายร่วมกับ BOI ด้วยการนำพาสมาชิกพบกับกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ จนเติบโตเป็น สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCONTRACTING PROMOTION ASSOCIATION) ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) เดินหน้าจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ โดยได้ดึงทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่จากบริษัทสมาชิก และเรียนเชิญที่ปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา มาช่วยนำเสนอแผนงาน แนวความคิด โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยพลิกวิกฤตเศรษฐกิจของสมาชิกให้เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล สนามบินสุวรรณภูมิ

นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) เปิดเผยว่า สมาคมไทยซับคอน ได้รวมกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งชิ้นส่วนโลหะ ยาง พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์
รวมไปถึงงานบริการบำรุงซ่อมแซมเครื่องจักร โดยสมาชิกสามารถสนับสนุนและผลิตชิ้นส่วนได้เกือบทุกอุตสาหกรรม ในปีที่ผ่านมาสมาคม Thai Subcon ได้จัดกิจกรรมที่สำคัญต่างๆ ให้กับสมาชิก เช่น (1) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์ยานยนต์แห่งอนาคตและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (2) ร่วมวิจัยพัฒนาและผลิตชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPRs) ร่วมกับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าหน้ากาก N95 โดยได้บริจาคไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วมากกว่า 1,000 ชุด (3) ร่วมกันกับสมาชิกผลิตและรวบรวมของบริจาคอุปกรณ์ป้องกัน Covid-19 เช่น ถุงมือทางการแพทย์, หน้ากากอนามัย, กล่องอะคลิลิค เป็นต้น บริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ มากกว่า 60 แห่งทั่วประเทศไทย (4) จัดงานแสดงสินค้า Subcon Thailand ที่ ซึ่งเป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยมีการจัดงานให้กับสมาชิกทุกปี และในปีนี้ก็จัดเป็นปีที่ 16 แล้ว (5) ได้รับความอนุเคราะห์จาก สสว. กองทัพอากาศ และบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) เปิดโอกาสให้สมาชิกผู้ประกอบการได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานกิจการของ TAI ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กองบิน 2 จ. ลพบุรี และที่อำเภอตาคลี จ. นครสวรรค์ (6) นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ร่วมมือกับบริษัท TAI ทำโครงการโดรนต้นแบบ ให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสที่จะผลิตชิ้นส่วนโดรนให้กับกองทัพอากาศ และยังได้ร่วมวิจัย พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Equipment Service) โดยคนไทย สำหรับใช้ในศูนย์ซ่อมอากาศยานของ TAI เป็นต้น

นอกจากนี้ นายเกียรติศักดิ์ ยังเผยวิสัยทัศน์การดำเนินงาน 2 ข้อหลัก ในวาระปี 2563 – 2565 ดังนี้ 1) สมาคมมีความเข็มแข็ง เป็นที่พึ่งและกระดูกสันหลังของกลุ่มอุตสาหกรรมไทย 2) สมาคมมีชื่อเสียงในระดับสากลเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สมาชิกสมาคม Thai Subcon นั้นมีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์มีการแข่งขันค่อนข้างสูง สมาชิกจึงต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอะไร Thai Subcon จึงพูดได้เต็มปากว่าสมาชิกของเราสามารถทำได้หมด เพียงแต่ต้องได้รับโอกาส ในการผลิต ให้สมาชิกไทยซับคอนได้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นก้าวแรก ๆ ที่จะสร้าง Supply chain ของอุตสาหกรรม S-Curve ให้กับประเทศชาติ หากวันนี้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนสมาชิก Thai Subcon แน่นอนว่าต่อไปประเทศไทยจะพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม S-Curve จากต่างประเทศเหมือนในอดีตอีกต่อไป

นายวรากร กติกาวงศ์ กรรมการบริหารและโฆษกสมาคมฯ กล่าวว่า ภารกิจหลักของสมาคมฯ คือเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 บริษัท และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ถึง 600 บริษัท ในปี 2564 และหนึ่งในนโยบายที่จะสามารถตอบรับวิสัยทัศน์ ดังกล่าว คือการผลักดันสมาชิกสู่การเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ ใน S-Curve ซึ่งไทยซับคอนสามารถรวมกลุ่มสมาชิก สร้างคลัสเตอร์ได้เข้มแข็งในระดับหนึ่งแล้ว จำนวน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหุ่นยนตร์อุตสาหกรรมทั่วๆ ไป 2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เช่น ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนเครื่องบินและภาคพื้น 3) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (4) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การผลิตยุทธโธปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร 5) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบราง

“ในปีที่ผ่านมา เรามีภารกิจหลักที่เป็นหัวใจของสมาคมฯ คือเรื่องของชิ้นส่วนอากาศยาน เนื่องจากเดิมทีประเทศไทยไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ภาคพื้นหรืออุปกรณ์อากาศยานต่างๆ ได้ แต่เมื่อทางสมาคมฯ ได้ตั้งคลัสเตอร์นี้ขึ้นมาแล้ว เราได้เข้าไปร่วมมือกับกองทัพอากาศ ส่วนกองกองทัพอากาศซึ่งไม่สามารถซื้อชิ้นส่วนโดยตรงได้ กองทัพฯ ก็ได้จัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งประเทศไทย (TAI) ซึ่งได้จับมือกับทางสมาคมฯ และดูว่าเราสามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานอะไรได้บ้าง และเราก็เป็นตัวหลักในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานใช้เองได้
อีกเรื่องคือระบบราง จะเห็นว่าภายในปีสองปีนี้ระบบรางจะขยายตัวค่อนข้างเร็ว ประเทศไทยตั้งกรมรางขึ้นมาเพื่อมาดูแลเรื่องการบริหารจัดการระบบรางทั้งหมด สมาคมไทยซับคอนก็มีคลัสเตอร์เรื่องของระบบรางทำงานร่วมกับภาครัฐในการที่จะนำชิ้นส่วนของระบบรางไปกระจายให้กับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคม”

อย่างไรก็ดี ในส่วนของรัฐบาล ต้องให้การส่งเสริมในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งเสริมเรื่องการลงทุน ส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยอย่างจริงจัง ค่อยๆ ลดเรื่องการนำเข้า ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้เองในประเทศไทย มีแผนพัฒนาประเทศที่ชัดเจนในเรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการไทย …สมาคมฯ มี 5 คลัสเตอร์หลัก เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในประเทศไทย ทางสมาคมฯ พร้อมที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องของการผลิต และสมาคมฯ มีศักยภาพในการพัฒนาภาคการผลิตเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย นายวรากร กล่าวในตอนท้าย