แบบด้านการบริหารจัดการหนี้ หวังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนในชุมชน
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 – 10.00 น. นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยมีนางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กล่าวรายงาน และมีคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชน จำนวน 27 จังหวัด รวม 168 คน ร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ดำเนินการ 3 วัน ระหว่างวันที่ 24 – 26 พฤษภาคม 2565 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการหนี้ และเพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในการปรับพฤติกรรมทางการเงิน
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดี พช. กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ ในวันนี้จากคำกล่าวรายงานของผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน จะเห็นได้ว่ากิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง
รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเป็นธรรม และสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงอย่างทั่วถึง นโยบาย การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง เพื่อสร้างสังคมคุณภาพ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันในหมู่บ้าน/ชุมชน
มีแหล่งทุนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกองทุนที่รัฐให้การสนับสนุน และกองทุนที่ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลให้สมาชิกมีหนี้สินซ้ำซ้อนหลายกองทุนทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ทำให้มีการดำเนินชีวิตสู่เข้าสู่วงจรการเป็นหนี้หมุนเวียน “กู้หลายที่ เป็นหนี้หลายทาง ประกอบกับวิกฤติที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง มีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ถูกปรับลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้างงาน และ จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ประชาชนประสบปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหา มีการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
กรมการพัฒนาชุมชน เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงได้ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” โดยการบูรณาการเชื่อมโยงการบริหารจัดการของกลุ่ม/กองทุน/องค์กรการเงินในชุมชน ให้เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนด้วยวิธีการที่เหมาะสมทำให้ครัวเรือนเกิดสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงินให้กับคนในชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนผู้มีหนี้สิน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน จนสามารถลด ปลดหนี้ ได้ในที่สุด ปัจจุบันมีศูนย์จัดการกองทุนชุมชน จำนวน 1,138 แห่ง ในพื้นที่ 76 จังหวัด
อธิบดี พช. กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2564 กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนให้เป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ โดยผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนต้นแบบ จำนวน 54 แห่ง ในพื้นที่ 49 จังหวัด และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนให้เป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ ในพื้นที่จังหวัดที่ยังไม่มีศูนย์จัดการกองทุนชุมชนต้นแบบ เพิ่มเติมอีกจำนวน 27 จังหวัด (27 แห่ง) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้มีแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการหนี้ ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ปัจจุบันมีศูนย์จัดการกองทุนชุมชนต้นแบบ รวมทั้งสิ้น จำนวน 81 แห่ง ในพื้นที่ 76 จังหวัด ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการหนี้ให้กับคนในชุมชน รวมไปถึงศูนย์จัดการกองทุนชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่เตรียมความพร้อมจะจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในปีต่อไป
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะที่เกี่ยวข้องทางการเงินแก่คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชน และพัฒนากร จำนวน 27 จังหวัด ดังนี้
1) ภาคกลาง 10 จังหวัด ประกอบด้วย อ่างทอง ลพบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์
2) ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์
3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย หนองบัวลำภู อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม
4) ภาคใต้ 6 จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา สตูล พังงา ภูเก็ต
ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้รับความรู้ ประสบการณ์ เพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจได้ ขอขอบคุณคณะวิทยากร ผู้เกี่ยวข้อง และขอให้การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ…นายสมคิด กล่าวทิ้งท้าย