

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2563 ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย ผู้บริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต ผู้แทนกองทุนประกันวินาศภัย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนวังหอน ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ในรูปแบบ Insurance Mobile Unit ในโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โดยได้มีการสำรวจความเสี่ยงและเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้วิถีชีวิตต่างๆ ภายในชุมชน เช่น ฐานการเรียนรู้ผ้ามัดย้อม ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งด้วยเกสรจากธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้การทำพริกแกง เป็นต้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับ ทำให้ทราบว่าประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มะพร้าว ไม้ผล และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และจากการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในครั้งนี้ พบว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย อาทิ ไม่ทราบว่ารถทุกคันต้องจัดทำการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และหากเจ้าของรถไม่นำรถไปจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับ รวมถึงนำระบบประกันภัยมาใช้ยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่มีในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและครอบครัว


ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะได้เคาะประตูบ้านเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน เพื่อรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชนกรณีการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะเสียหลักชนต้นไม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย บาดเจ็บ 2 ราย และเนื่องจากรถยนต์คันเกิดเหตุได้จัดทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ไว้ จึงได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัยทั้ง 3 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,950,000 บาท และสำหรับผู้บาดเจ็บได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริงไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย ส่งผลทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ได้รับการเยียวยาความสูญเสียและความเสียหาย โดยระบบประกันภัย นอกจากนี้เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะได้รับทราบสภาพปัญหาความเสี่ยงจากภัยลมพายุของชาวชุมชนที่ทำให้ต้นยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ ได้รับความเสียหายทั้งส่วนของต้นยางพารา และบ้านพักอาศัย จึงได้แนะนำให้ชาวชุมชนจัดทำประกันภัยอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยที่ขยายความคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมทั้งคณะเลขาธิการ คปภ. ยังได้รวบรวมข้อมูลความเสียหายของต้นยางพารา เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป


ชุมชนวังหอน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอัตลักษณ์ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความเป็นเอกลักษณ์และดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก คือ การล่องแพไม้ไผ่บ้านวังหอน ดังนั้น เลขาธิการ คปภ.จึงแนะนำให้มีการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับผู้โดยสารแพ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ภาคสมัครใจที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุจากการใช้แพ สำหรับเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการแพโดยสาร และให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่โดยสารแพ รวมถึงการทำประกันภัยสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับวิถึชีวิตของชาวชุมชนอีกด้วย


สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ความรู้ รวมทั้งการรับฟังสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย และนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชนยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายศิริพงศ์ ศรีพยางค์ นายอำเภอชะอวด กล่าวต้อนรับ ร่วมรับฟังเสวนา รวมทั้งเยี่ยมชมบูธการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. กองทุนด้านประกันภัยและบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ



“การลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้ง เป็นการลงพื้นที่ตามโครงการ คปภ.เพื่อชุมชน ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “เหนือสุดใต้ ตะวันออกสุดตะวันตก” โดยเป็นการบูรณาการเชิงรุกร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อขับเคลื่อนระบบประกันภัยสู่ประชาชน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการประกันภัย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในการนำระบบประกันภัยสามารถเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย