กรุงเทพ- เตรียมนับถอยหลังสู่งาน Colocasia Thailand Fair ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2565 งานที่ผู้คนจะเข้ามาสัมผัสถึงหัวใจของคนรักไม้ใบด่างครั้งแรกในไทยและอาเซียน มาชมความงดงามของ Colocasia แต่ละสายพันธุ์ที่บางต้นนำมาโชว์มีมูลค่าถึง 20 ล้านบาท พร้อมเตรียมแผนลุย On Tour ไปยังจังหวัดเชียงใหม่, ภูเก็ต แนะผู้คิดทำธุรกิจนี้ก็เหมือนการเล่นหุ้นที่แต่ละตัวมีราคาขึ้น-ลง ต่างกัน จึงควรเริ่มก้าวที่ละ Step จากปลูกไป-ขายไป ในสายพันธุ์ราคาเบาๆ ก่อน ค่อยขยับไปแตะราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ
จากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด โดยเฉพาะช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ชีวิตผู้คนถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ออกไปไหนไม่ได้ต้องนั่ง Work From Home หรือ เรียนออนไลน์แทน ก่อให้เกิดสภาวะตึงเครียด น่าเบื่อ บางคนถูกไล่ออกจากงานกระทันหัน ขาดรายได้ทันที สิ่งเหล่านี้ก่อให้กระแสการปรับตัว หรือ การหาทางออกในด้านวิถีการดำเนินชีวิตของใครหลายๆ คน ตามมาในการมุ่งหาสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจนั่นก็คือ การหันมาปลูกต้นไม้ หรือไม่ก็เลี้ยงสัตว์แทน
จนกลายเป็นเทรนด์ยอดฮิตและธุรกิจขึ้นมา โดยเฉพาะธุรกิจไม้ใบด่างอย่าง Colocasia เพราะถ้าเป็นต้นไม้พันธุ์อื่นกว่าจะออกมาเป็นใบนึงให้ชื่นชมต้องใช้เวลาปลูกเป็นเดือนๆ แต่ถ้าเป็น Colocasia ปลูกแค่อาทิตย์เดียวก็มีใบนึง ออกมาแล้ว ปลูกครบเดือนเดียวมี 4 ใบ ออกมา และแต่ละใบก็มีการพัฒนาระหว่างใบแตกต่างกันอีก เช่น ใบแรกออกเป็นสีแดง ใบที่ 2 กลายเป็นสีม่วง ใบที่ 3 โดนแดดหน่อยกลายเป็นสีชมพู สิ่งเหล่านี้สร้างความตื่นเต้นให้กับคนปลูกในการแลกเปลี่ยนกับความสุขที่ได้รับ ถือเป็นเอกลักษณ์ของไม้ใบด่างนี้ ทำให้ Colocasia บางสายพันธุ์ราคาสูงพุ่งขึ้นหลายล้านบาท
ดังนั้นวันนี้ถ้าจะมองเรื่องการปลูกต้นไม้สามารถมองได้ทั้งในส่วนของมิติที่เป็น New Normal ในการเติมเต็มความสุขให้กับตนเอง และ การทำธุรกิจสร้างรายได้ แต่ถ้ามองในแง่ของ New Normal ก็คือที่มาของการจัดงาน Colocasia Thailand Fair ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม ปี 2565 ณ. Asiatique
โดยคุณภูริวัฒน์ อนุศรี สวนมีพิษ-ณุโลก เจ้าของสวน, คุณเพ็ชรบัว ยอดไพบูลย์ เจ้าของ Colocasia Psylocke ไม้ไฮบริดตัวใหม่ของไทยผสมขึ้น, คุณวุฒิ ศรีเจริญ เจ้าของสวนเฮียน็อต Wonder plant 8 ราคาต้นแม่อยู่ที่ 20 ล้าน เปิดเผยว่า ภาพรวมของการจัดงานครั้งนี้ต้องการให้ทุกๆ คนรับรู้ถึงอารมณ์จิตใจของคนรักต้นไม้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะไม้ใบด่างอย่าง Colocasia ที่นับว่าเป็นการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทยที่อนาคตสามารถต่อยอดไปสู่การจัดงานดังกล่าวในระดับอาเซียน ที่ต้องการมุ่งเน้นไปสู่การสร้างภาพลักษณ์และภาพจดจำที่ดี
สำหรับรายละเอียดของการจัดงานครั้งนี้ ภายในงานจะมีการโชว์สายพันธุ์ต่างๆ ของ ไม้ใบด่าง Colocasia ว่ามีความงดงามแตกต่างกันอย่างไรบ้าง บางสายพันธุ์ก็มีมูลค่าสูงถึง 20 ล้านบาท เป็นเรื่องที่แต่ละคนมีมุมมองแตกต่างกันบางคนไม่ชอบก็บอกว่าแพง ดังนั้นงาน Colocasia Thailand Fair ที่จะจัดขึ้นครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเน้นให้มามองดูมูลค่าของต้นไม้ว่าแพงแค่ไหน แต่ให้มาดูความงดงามของต้นไม้แต่ละสายพันธุ์และการมาสัมผัสถึงหัวใจของคนรักต้นไม้ ที่จะมีการเชิญคนรักไม้ใบด่าง Colocasia ทั่วประเทศมาร่วมในงานนี้ด้วย
นอกจากนี้ก็มีแผน On Tour จัดงาน Colocasia Thailand Fair ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ตามมา เช่น จังหวัดเชียงใหม่, ภูเก็ต โดยแต่ละจังหวัดที่ไปก็นำรายได้ส่วนหนึ่งไปจัดกิจกรรมช่วยเหลือเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่เพื่อมุ่งเน้นในการสร้างคนเป็นหลัก และ ถ้าคนในพื้นที่ต้องการให้เข้าไปช่วยปลูกต้นไม้ก็ยินดี เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ได้มองเรื่องของความเป็นธุรกิจเป็นหลัก
แม้ปัจจุบันจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การปลูกไม้ใบด่าง Colocasia ก็กลายเป็นธุรกิจนึงที่มีรูปแบบคล้ายๆ กับซื้อขายหุ้น ที่มีราคาขึ้น-ลง ไม่เหมือนกัน ดังนั้นข้อแนะนำของคนที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ควรก้าวที่ละ Step คือ เริ่มจากต้นไม้เล็ก หรือ สายพันธุ์เล็กๆ แบบปลูกไป- ขายไป ก่อน พอเริ่มมีรายได้ก็ค่อยๆ ขยับมาปลูกสายพันธุ์ที่มีราคาสูงขึ้น ตามลำดับ
เพราะถ้าทำดีๆ จะเห็นได้ว่าคนที่เข้ามาปลูกต้นไม้เมื่อหลายเดือนก่อนปัจจุบันมีรายได้จากธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านบาท ต่อเดือน จากตัวอย่างผู้มาร่วมแถลงข่าวการจัดงาน Colocasia Thailand Fair ครั้งนี้ เช่น บ้านสวนคุณยายรัตน์ กล้วยพลอยชมพู สามารถนำกล้วยด่างมาแลกโฉนดที่ดิน อำเภอ เมือง จังหวัด นครสวรรค์ จนกลายเป็นกระแสข่าว, คุณมลอ วิทยา โฉสูงเนิน และ คุณ Auwit saisam –ang ผู้ร่วมตั้งชื่อ Queen of Phoenix ราชินีแห่งนกฟีนิกซ์ ปัจจุบันราคาต่อต้นแม่อยู่ที่ 4,500,000 บาท และ ฟาร์มอวตาร ของคุณก๊อป กล้วยด่างเงินล้าน จาก จังหวัด ราชบุรี เป็นต้น