กรมควบคุมโรค เตือนผู้ป่วยวัณโรคให้กินยารักษาให้ครบสูตร อย่าหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้ว 1,221 ราย ชี้ทำให้การรักษายุ่งยาก ใช้เวลานานขึ้น ให้ผลสำเร็จการรักษาน้อย เชื้อแพร่คนอื่นได้ แนะประชาชนให้สังเกตสัญญานป่วยวัณโรค หากมีอาการไอแห้งๆติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ผอมลง มีไข้ช่วงบ่ายๆค่ำๆ ให้รีบไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง และใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 6-8 เดือน
วันนี้ (22 สิงหาคม 2564) นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาของโรควัณโรคว่า โรคนี้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่มีชื่อว่า มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์
คูโลซีส (Mycobacterium Tuberculosis) เกิดได้ทุกอวัยวะแต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ปอด สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ในปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยใหม่และผู้ขึ้นทะเบียนรักษารวมจำนวน 87,879 ราย ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 119,000 ราย เสียชีวิต 6,802 ราย ปัญหาวัณโรคของไทยขณะนี้แยกเป็น 3 กลุ่มคือ ประชาชนทั่วไป วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multi Drug Resistant Tuberculosis : MDR-TB) และวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีจำนวน 6,798 ราย
นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยานั้น พบในผู้ป่วยรายใหม่ประมาณร้อยละ 2 ซึ่งปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 1,221 ราย บางรายดื้อยาที่ใช้รักษาถึง 4 ขนาน สาเหตุสำคัญของเชื้อวัณโรคดื้อยาเกิดมาจากสองสาเหตุหลักคือ ผู้ป่วยกินยาไม่ครบตามสูตรที่แพทย์กำหนด และกินยาไม่ต่อเนื่อง โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่ได้กินยารักษาไปแล้ว 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าหายแล้วจึงไม่กินยาต่อ ทำให้เชื้อที่อยู่ในปอดไม่ตาย และพัฒนาตัวเองเป็นชนิดดื้อยา และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อชนิดดื้อยานี้สู่คนรอบข้างได้ จากการไอจามโดยเชื้อจะอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย ส่งผลให้การรักษามีความยุ่งยากขึ้น ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นและใช้เวลารักษานานขึ้น อย่างน้อย 20 เดือน และอัตราการรักษาหายขาดมีประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น
ด้านแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน สามารถทำได้ไม่ยาก โดยขอให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกราย กินยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่งรักษา อย่าขาดยาหรือหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด และไปพบแพทย์ตามนัดจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา โดยยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพดีมาก ใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี หากกินยาได้ครบถ้วน จะหายขาด100 %
สำหรับอาการของวัณโรค ประชาชนสามารถสังเกตอาการเด่นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ได้คือ มีอาการไอแห้งๆ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวลด เจ็บหน้าอก ไอแล้วมีเลือดปนออกมาด้วย หรือมีไข้ต่ำๆ มักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายๆ และค่ำ หากมีคนในครอบครัวหรือคนข้างบ้าน มีอาการดังกล่าว ขอให้พาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
แพทย์หญิงผลิน กล่าวต่อไปว่า การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค มีคำแนะนำดังนี้ 1.ควรตรวจสุขภาพ และเอ็กซเรย์ปอดทุกปี 2.เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีเพื่อป้องกันวัณโรค 3.หากมีอาการสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคตามอาการที่กล่าวมา ขอให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลทุกแห่ง 4.รักษาสุขภาพให้แข็งแรง 5.ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด อากาศหมุนเวียนถ่ายเทดี 6.หลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่แออัด 7.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 8.ไม่คลุกคลีกับผู้ที่กำลังป่วยเป็นวัณโรค
ส่วนผู้ที่ป่วยแล้ว ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น กินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารได้ทุกชนิด งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล งดการรวมกลุ่ม งดออกนอกบ้าน เพราะหากผู้ป่วยวัณโรคติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร 0 2212 2279 ต่อ 1280-1 วันจัทร์-ศุกร์ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
***********************
ข้อมูลจาก : กองวัณโรค กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 สิงหาคม 2564