Home PR. News “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ลงพื้นที่ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล

“สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ลงพื้นที่ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล

0
“สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ลงพื้นที่ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบ EEC พร้อมเตรียมยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล

11 มีนาคม 2564 – สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนหนองขาม อำเภอศรีราชา ติดตาม “คุณมาดี” เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในพื้นที่ต้นแบบเขต EEC เพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการทำสำมะโนประชากรและเคหะโดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พร้อมเผยทิศทางการดำเนินงานพร้อมนำองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติอย่างมาก โดยเฉพาะการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบ Face to Face ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ประชาชนนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับสังคมมีความต้องการใช้ข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น สสช. ตระหนักดีว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและทบทวนวิธีการทำสำมะโนในรูปแบบใหม่ จึงได้จัดให้มีการศึกษา ‘โครงการการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียน หรือ Register-based Census’ ถือเป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบ กรอบแนวคิด และวิธีการทำสำมะโน โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเสริมวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อให้ได้ข้อมูล ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุมประชากรของประเทศ”

Register-based Census ดำเนินการใน 3 จังหวัดซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชาและอำเภอพนัสนิคม เป็นการเก็บข้อมูลจากประชากรทุกคนตามที่อยู่อาศัยจริง ณ วันที่กำหนด โดยใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งได้ดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – เดือนมีนาคม 2564
ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า “การปรับเปลี่ยนวิธีการทำสำมะโนจากแบบดั้งเดิมมาใช้ฐานข้อมูลทะเบียนนั้น ทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำสำมะโนของประเทศ เพราะสามารถใช้ข้อมูลจากทะเบียนที่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ มีอยู่แล้วมาใช้แทนการปฏิบัติงานสนามได้ หากวิธีการนี้ได้ถูกนำมาใช้จะทำให้ประชาชนตอบคำถามและใช้เวลาน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความร่วมมือของประชาชนในการตอบข้อมูลกับ สสช.
มากขึ้น และได้ข้อมูลที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย ผลการศึกษาจากโครงการนี้ อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำสำมะโนในอนาคต”

นอกจากโครงการ Register-based Census แล้ว ในปีที่ผ่านมา สสช. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือ GBDi พัฒนา “ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ หรือ Government Data Catalog” เรียกสั้นๆ ว่า GD Catalog ซึ่งถือเป็นสมุดหน้าเหลืองรวบรวมรายการข้อมูลภาครัฐ และเปิดให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูลเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน โดยจะพัฒนาเป็น Digital Platform ด้านข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกันในระดับประเทศ (GD Catalog Platform) ต่อไป

นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เล่าถึงประโยชน์ของระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐว่าจะช่วยลดระยะเวลาการสืบค้นและศึกษาข้อมูล เนื่องจากมีการจัดการบัญชีข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบ มีคำอธิบายข้อมูลที่แสดงถึงแหล่งที่มาจากเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง โดยตัวอย่างการใช้ประโยชน์ของ GD Catalog เช่น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีบัญชีข้อมูลภาครัฐทำให้ทราบว่าข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มีการจัดเก็บอยู่หรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานใด จัดเก็บอยู่ในรูปแบบใด ซึ่ง GBDi ได้รวบรวมบัญชีข้อมูลและนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มากกว่า 100 รายการ

“สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานในยุคการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล มุ่งเน้นการจัดทำข้อมูลและให้บริการข้อมูลสถิติที่สอดคล้องตอบโจทย์ ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ของประเทศ โดยพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลให้มากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบแบบสอบถามออนไลน์ การใช้แท็บเล็ตในการเก็บและปรับปรุงข้อมูล การพัฒนาระบบการบริการข้อมูลแบบ API เป็นต้น

สำหรับปี พ.ศ. 2564-2565 มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการ ดังนี้ โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 โครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โครงการยกระดับ
การสำรวจข้อมูลของ สสช. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรสถิติดิจิทัล และโครงการจัดทำฐานข้อมูลผู้ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทยโดยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดทำสำมะโนการเกษตร
พ.ศ. 2566 เป็นต้น”

“ข้อมูลถือเป็นขุมทรัพย์และเข็มทิศนำทางการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงใคร่ขอความร่วมมือประชาชนให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริงกับ ‘คุณมาดี’ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีมีคุณภาพมาประมวลผล และนำไปเป็นฐานข้อมูลสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง ก้าวทัน และยั่งยืน” ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข้อมูลสถิติที่น่าสนใจมากมายจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th โซเชียลมีเดีย Line Official Account “NSO OF THAILAND” และโมบายแอปพลิเคชัน “THAI STAT” หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 0 2141 7500-03