ทีม Electron+ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คว้าสุดยอดแชมป์สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีคแห่งปี 2565 จากผลงาน “Flexible thermoelectric เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเก็บเกี่ยวพลังงานความร้อนเหลือทิ้งเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และยังสามารถที่จะทำอุณหภูมิได้ทั้งด้านร้อนและเย็น”
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ประกาศ “สุดยอดสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีค 2565” ระดับมหาวิทยาลัย จาก 276 ทีมทั่วประเทศเข้าร่วมประชันไอเดียในการประกวดแข่งขัน พร้อมเปิดพื้นที่โชว์กึ๋นนวัตกรรมเด็กไทย แสดง 100 สุดยอดไอเดียเจ๋ง ที่พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจในงาน DEMO Day ทั้งนี้ ผลปรากฏว่า ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Electron+ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท จากผลงาน “Flexible thermoelectric
เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเก็บเกี่ยวพลังงานความร้อนเหลือทิ้งเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และยังสามารถที่จะทำอุณหภูมิได้ทั้งด้านร้อนและเย็น” ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม CARSUP จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท จากผลงาน “แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้เจ้าของรถยนต์ ได้เจอกับอู่ซ่อมรถที่ตรงกับความต้องการจริงๆ โดยสร้าง Tools ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถกรอง และค้นหาอู่ที่ตรงกับปัจจัยความต้องการต่างๆ” และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Detox Din จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท กับผลงาน”ผลิตภัณฑ์ดีท็อกซ์ดิน ‘แบคบอล’ ช่วยในการกำจัดสารเคมีตกค้างในดิน ใช้ปรับสภาพก่อนการปรับเปลี่ยนจากการเพาะปลูกพืชแบบเคมีสู่ระบบเกษตรอินทรีย์”
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “โครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีค (Startup Thailand League) จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นการร่วมมือกันระหว่าง NIA กับ 48 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมแก่นิสิตนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ โดยในปีนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การอบรม Coaching Camp ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง (mentor) เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ ช่วยพัฒนาแนวคิด ไอเดีย แผนธุรกิจให้แก่นิสิตนักศึกษา ก่อนลงสู่สนามการนำเสนอผลงานจริงแก่คณะกรรมการ 2) กิจกรรม Regional Pitching Startup Thailand League การประกวดแข่งขันไอเดียแผนงานธุรกิจสตาร์ทอัพของนิสิต นักศึกษาระดับภูมิภาค ซึ่งทีมที่ผ่านการอนุมัติแผนงานทางธุรกิจ จะได้รับเงินสนับสนุนจาก NIA จำนวนเงิน 25,000 บาท เพื่อพัฒนาเป็นผลงานต้นแบบ (Prototype) และนำมาจัดแสดงในงาน DEMO Day 3) กิจกรรมแสดงผลงาน DEMO Day เพื่อแสดงผลงานต้นแบบของนักศึกษาที่ได้รับการอนุมัติจากกิจกรรม Regional Pitching Startup Thailand League”
Startup Thailand League เป็นโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งสร้างเมล็ดพันธุ์เถ้าแก่น้อย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในภาคธุรกิจ หรือเป็นพนักงานที่มีคุณภาพของบริษัทเอกชน ซึ่งตลอด 6 ปีของการดำเนินกิจกรรมมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จาก 48 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ทั้งนี้ สามารถต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทและปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่มากกว่า 50 บริษัท ก่อให้เกิดรายได้รวมต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท (เฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อปีต่อบริษัท) นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของสตาร์ทอัพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค รวมถึงเกิดการจ้างงานและสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้มากขึ้นอีกด้วย
และในปีนี้ จาก 276 ไอเดียธุรกิจของนักศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันในระดับภูมิภาค มีเพียง 17 ทีมที่ได้ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายของ Startup Thailand League 2022 ระดับประเทศ ในวันนี้ทั้ง 17 ทีมได้นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเองต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากนักลงทุน และบริษัทสตาร์ทอัพในหลากหลายสาขา และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลพิเศษ ที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุน HUAWEI CLOUD CREDIT แก่นิสิตนักศึกษาที่ชนะเลิศระดับประเทศ ทั้ง 17 ทีม รวมมูลค่า 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.3 ล้านบาท”
นายปริวรรต กล่าวเพิ่มเติมว่า “งาน DEMO Day ที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นกิจกรรมแสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 100 ผลงาน เพื่อสร้างโอกาสสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและแสดงผลงานต่อกลุ่มนักลงทุน ภาคเอกชนและผู้สนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยตลอดการดำเนินโครงการมีผลิตภัณฑ์หรือบริการของนิสิตนักศึกษาที่นำมาจัดแสดงในงาน DEMO Day ถูกนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจจำนวนไม่น้อย ถือเป็นการสร้างฐานรากสตาร์ทอัพให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”
ปีนี้นิสิตนักศึกษาให้ความสนใจในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใน 3 กลุ่มเทคโนโลยี คือ 1) ด้านเกษตรและอาหาร (AgTech & FoodTech) ซึ่งเทคโนโลยีด้านนี้ได้รับความสนใจพัฒนาเป็นธุรกิจนวัตกรรมมากขึ้นกว่าปีก่อน ด้วยวิกฤตอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก, 2) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (MedTech/Health Tech) ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีกลุ่มนี้ยังได้รับความสนใจต่อเนื่องจากปีที่แล้วและพัฒนาสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพและด้านการแพทย์ และ 3) ด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ที่พัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปของคนในยุค Next Normal นี้ สะท้อนให้เห็นว่านิสตินักศึกษาสามารถใช้วิกฤต เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานในการเริ่มต้นธุรกิจได้
“NIA ในฐานะผู้จัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีค รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ตลอด 6 ปีของการจัดงานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่านิสิตนักศึกษาไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่ง NIA พร้อมให้การสนับสนุนทุกความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นระบบมากขึ้นเพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้” นายปริวรรต ทิ้งท้าย