สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล : Thailand Digital Government Academy หรือ TDGA ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้เติบโตก้าวหน้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุดครอบคลุมทุกมิติ จับมือกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ก บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือทางวิชาการ “รวมพลังสร้างคนภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล (TECH FOR GOV GEN1)” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลแบบไม่มีที่สิ้นสุดให้แก่ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้หน่วยงานพันธมิตรได้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเทคนิคและด้านเทคโนโลยีระดับโลกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับในการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดทันกระแสโลกดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ประธานกล่าวเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ กล่าวว่า “การพัฒนาบุคลากรภาครัฐทั้งระบบโดยสถาบัน TDGA เพียงหน่วยเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็น ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของคนภาครัฐทำได้รวดเร็วขึ้น และเป็นไปในทิศทาง และเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เครื่องมือการทำงานใหม่ ๆ ล้วนจำเป็นสำหรับคนภาครัฐในยุคปัจจุบัน DGA จึงเชิญชวนบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง เข้ามาร่วมช่วยพัฒนาทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับคนภาครัฐในยุคนี้ และเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือในวันนี้ที่เราอยากจะประกาศให้ทุกท่านทราบถึงพลังความร่วมมือของพวกเรา ทุกบริษัทมีความมุ่งมั่นและตั้งใจมากที่อยากจะเข้ามาช่วยภาครัฐ ภายใต้โครงการ รวมพลังสร้างคนภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล (TECH FOR GOV GEN1)”
คุณไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเสวนาความร่วมมือหัวข้อ “รวมพลังสร้างคนภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล” กล่าวว่า “สถาบัน TDGA มีบทบาทสำคัญในการจัดทำหลักสูตรกลางเพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลของคนภาครัฐ พร้อมจัดการฝึกอบรมให้กับคนภาครัฐทุกกลุ่ม ด้วยหลักสูตรกลางที่จัดทำขึ้น รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน จนเกิดสมาชิกเครือข่ายความร่วมมือแล้วถึง 54 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป้าหมายของสถาบัน TDGA คือการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนภาครัฐให้พร้อมและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกหน่วยงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อราชการในยุคดิจิทัลนี้ได้ สถาบัน TDGA จึงร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกสร้างหลักสูตรที่พร้อมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เพื่อต่อยอดการทำงานให้กับคนภาครัฐที่ต้องปรับตัวในยุค New Normal ต่อไป”
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สิ่งที่เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมคือการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านนวัตกรรมและการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ หัวเว่ยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับพันธกิจระยะยาวของเราในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล (ดิจิทัลฮับ) แห่งอาเซียน ผ่านการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นนำของหัวเว่ย เราเชื่อมั่นว่าความรู้และทักษะของหัวเว่ยจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้ นอกจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐแล้ว หัวเว่ยยังให้ความสำคัญต่อนักเรียนนักศึกษาด้วย ASEAN Academy โปรแกรม Seeds for the Future และโครงการฝึกอบรมร่วมกับมหาวิทยาลัย 23 แห่งในประเทศไทย เพื่อบ่มเพาะทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรได้ถึง 20,000 คนภายในปี พ.ศ. 2565 นี้”
กล่าวว่า “ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการบริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประจำประเทศไทยและอินโดจีนพัฒนาทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้บุคลากรภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน สำหรับทั้งผู้บริหารระดับสูง กลางและระดับปฏิบัติการด้านเทคนิค ที่ผ่านมา ทางบริษัทพาโลอัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ได้มีความร่วมมือกับ TDGA ในหลายมิติ เช่น ร่วมออกแบบหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และสนับสนุนผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยพาโลอัลโต้ แอคคาเดมี่ ในการอบรม รวมทั้งร่วมจัดอบรมเฉพาะกิจให้บุคลากรด้านเทคนิคของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 โครงสร้างพื้นฐานหลักด้านสารสนเทศของประเทศ และได้เล็งเห็นถึงความท้าทายในการเข้าถึงทักษะเชิงปฏิบัติการชั้นสูง ที่บางหน่วยงานขาดทั้งงบประมาณด้านการอบรม เครื่องมือในการฝึกซ้อม และผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอด จึงนำเสนอการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านไซเบอร์ (Cyber Range Workshop) สำหรับบุคลากรระดับปฏิบัติการด้านเทคนิค โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในไทยคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ทางบริษัทจะร่วมผลักดันเพื่อสร้างบุคลากรภาครัฐให้ทันต่อความก้าวล้ำของภัยไซเบอร์ในอนาคตด้วยการจะสรรหาหลักสูตรอบรมที่หายากแต่จำเป็นมานำเสนออย่างต่อเนื่อง”
อีริค คอนราด กรรมการผู้จัดการสำหรับกลุ่มลูกค้าภาครัฐของ AWS ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “การประกาศความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นจาก บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ในการสนับสนุนนโยบาย ไทยแลนด์4.0 ของรัฐบาลไทย ที่มีความตั้งใจที่จะมอบบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งขับเลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการเผชิญหน้ากับความท้าทายและแก้ไขปัญหาที่สำคัญในสังคม AWS จะร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อช่วยให้พนักจากหน่วยงานภาครัฐสามารถมีทักษะด้านใหม่คลาวด์ คอมพิ้วติ้ง เพื่อนำไปเร่งพัฒนานวัตกรรมได้”
คุณทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทยและอินโดจีน) กล่าวว่า “Cybersecurity เป็นฟาวเดชั่นของขับเคลื่อนสู่ความเป็นดิจิทัลในปัจจุบัน ในขณะที่โลกมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีผู้คน กระบวนการ และเทคโนโลยีร่วมกันในการตรวจจับ ตอบสนอง และบรรเทาภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เท่าทัน องค์กรในประเทศไทยเริ่มขับเคลื่อนสู่เส้นทางดิจิทัล พวกเขาสามารถกำหนดฟาวเดชั่นที่เหมาะสมสำหรับระบบรักษาความปลอดภัย และสร้างธุรกิจบนรากฐานที่แข็งแกร่งที่เชื่อถือได้ หลักของการบรรลุความยืดหยุ่นด้านความปลอดภัย (security resilience) คือการทำให้มั่นใจว่าทีมงานได้รับการฝึกอบรมและตระหนักถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของ DGA เพื่อช่วยให้การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การตอบสนองและการกู้คืนเหตุการณ์ และการจัดการความเสี่ยงภายนอกของทีมงานเป็นไปอย่างเข้าใจและราบรื่นยิ่งขึ้น”
คุณโอม ศิวะดิตถ์ National Technology Officer จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มีความตั้งใจที่จะเสริมศักยภาพทักษะดิจิทัล ให้กับทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน ตั้งแต่ความรู้ทางดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ไปจนถึง certification สำหรับผู้ที่จะอยู่ในสายงานดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์ ดาต้า หรือ AI ผ่านทางหลายแพลตฟอร์มทั้งโดยตรงและร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ความร่วมมือทางวิชาการ “รวมพลังสร้างคนภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล (TECH FOR GOV GEN1)” นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของไมโครซอฟท์ประเทศไทยที่จะร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล หรือ TDGA ในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่บุคลากรภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Government อย่างแท้จริง”
คุณฤทธิชัย วานิชย์หานนท์ หัวหน้าทีมที่ปรึกษากลุ่มองค์กรภาครัฐ ธุรกิจยานยนต์และพลังงาน LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “LINE ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนศักยภาพของบุคลากร และหน่วยงานภาครัฐ ให้ก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ LINE ที่มุ่งเน้นการยกระดับให้กับทุกองค์กรธุรกิจในไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาประเทศ ให้เติบโตก้าวหน้าทัดเทียมกระแสโลกในยุคดิจิทัล ด้วยความรู้ ความเข้าใจในด้านการตลาด เทคโนโลยี และความพร้อมในด้านแพลตฟอร์ม เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ อันจะเป็นรากฐานสำคัญผลักดันศักยภาพรัฐบาลดิจิทัลไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
คุณไมเคิล บัค หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทยกล่าวว่า “ปัจจุบันเราเห็นคนไทยมีวิธีการสื่อสารและเชื่อมต่อกันจากทุกๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นกับครอบครัว เพื่อน ธุรกิจหรือแม้แต่กับหน่วยงานภาครัฐ เป้าหมายของเราคือการมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อที่มีความหมายและเสริมให้การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ดูมีชีวิตขึ้นทั้งผ่านทางข้อความ รูปภาพ วิดีโอหรือการถ่ายทอดสด และเราหวังว่าในอนาคต เทคโนโลยีเมตาเวิร์สที่เรากำลังมุ่งหน้าพัฒนาจะยิ่งช่วยเข้ามาเสริมประสบการณ์การเชื่อมต่อนี้ สำหรับพวกเราที่ Meta เรามีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและคนไทย เพื่อที่เราจะได้บรรลุเป้าหมายของชุมชน การให้บริการชุมชนและการส่งเสริมเรื่องข้อมูลข่าวสารให้ไปถึงผู้คนได้อย่างตรงเป้าหมายมากที่สุด”
ปัจจุบันนี้ หน่วยงานภาครัฐได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาให้บริการประชาชน รวมทั้งได้มีการปรับปรุงพัฒนาระบบการทำงานภายในหน่วยงานตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัยก่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับสู่รัฐบาลดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป