กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดแผนผลักดันการส่งออกไทยปี 64 เตรียมลุยเจาะตลาดศักยภาพที่ฟื้นตัวเร็ว ทั้งจีน สหรัฐฯ เร่งเจาะตลาดลงรายรัฐ มณฑล เป้าอินเดีย จีน เกาหลีใต้ และอัดกิจกรรมออนไลน์เต็มสูบ ทั้งแมชชิ่ง งานแสดงสินค้า และขายออนไลน์
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2564 โดยจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และเน้นการทำงานเชิงรุกผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้การทำงานภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และสร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในภาพรวมที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในการทำแผนบุกเจาะตลาด กรมฯ จะเน้นการเจาะตลาดศักยภาพที่มีการฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะจีน ที่ปัจจุบัน มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเจาะจีนในทุกรูปแบบ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และตลาดสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นตลาดที่การส่งออกของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงต้องลุยเจาะต่อไป ส่วนอาเซียน ที่เป็นตลาดสำคัญ จะเดินหน้าจัดจัดงานแสดงสินค้าไทยในรูปแบบ Mini Thailand Week เพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าไทย ซึ่งในปี 2564 มีกำหนดจัดงานใน 7 เมืองของ 5 ประเทศอาเซียน (เสียมราฐ-กัมพูชา/สุราบายา-อินโดนีเซีย/ ตองยี-เมียนมา/ เกิ่นเทอ และไฮฟอง – เวียดนาม/ เชียงขวาง และไชยะบุรี – สปป.ลาว)
ขณะเดียวกัน จะใช้กลยุทธ์การเจาะตลาดลงลึกระดับรัฐ มณฑล เมืองศักยภาพ มีเป้าหมาย คือ อินเดีย จีนและเกาหลีใต้ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยล่าสุดจะมีการลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งรัฐบาลเตลังคานา ในวันที่ 18 ม.ค.2564 และจะทำกับมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน และเมืองคยองกี ของเกาหลีใต้ต่อไป
ส่วนช่องทางออนไลน์ จะเน้นการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching) ในกลุ่มสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดโลกทุกกลุ่มสินค้า และทุกตลาด การร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย เช่น Tmall Global จีน , Amazon สหรัฐฯ, BIG Basket อินเดีย, Klangthai กัมพูชา, Coupang เกาหลีใต้ เป็นต้น การจัดกิจกรรมช่องทางใหม่ๆ ที่ได้ริเริ่มไว้ในปี 2563 เช่น การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Mirror-Mirror (M&M) ที่นำสินค้าไทยไปจัดแสดงในประเทศเป้าหมาย ให้ทูตพาณิชย์เป็นผู้ขาย และเปิดให้มีการเจรจาซื้อขายผ่านทางออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ตามสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ก.พ.2564 , STYLE Bangkok มี.ค.2564, THAIFEX-ANUGA ASIA พ.ค. 2564 และ TILOG-LOGISTIX ส.ค. 2564 เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละกิจกรรมและสถานการณ์ ณ เวลานั้น