วันที่ 27 กันยายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน โครงการ “ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ณ ห้องประชุม 5001 กรมการพัฒนาชุมชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวมอบนโยบายในการสร้างพลังขับเคลื่อนศูนย์ผู้นำจิตอาสาว่าควรมีการทำงานที่ไม่ยึดติดกับระบบราชการจนเกินไป ควรขับเคลื่อนในรูปแบบการทำงานในลักษณะเครือข่าย ซึ่งภารกิจของ กรมการพัฒนาชุมชน ในทุกยุคทุกสมัย ในชุมชนไหนมีผู้นำก็ต้องมีงานพัฒนาชุมชนอยู่ที่นั่น การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตของเราดีขึ้น สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในครอบครัวก็เรียกว่าการพัฒนา ซึ่งเป็นงานของกรมการพัฒนาชุมชน และเป็นงานของผู้นำด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชนตามธรรมชาติ ที่เราเรียกรวม ๆ กันว่า “จิตอาสา”
สังคมไทย เป็นสังคมที่ต้องมีผู้นำตามธรรมชาติ ต้องมีการแบ่งงานกันทำ อีกนัยยะหนึ่งคือ จะต้องมีทั้งผู้นำและผู้ตามถ้าเป็นผู้นำเชิง Negative ก็จะใช้อำนาจในการสั่งการบังคับให้ทำ และถ้าเป็นผู้นำเชิง Positive ก็จะทำตนเป็นตัวอย่าง ให้ผู้ตามได้เห็นและได้มีจิตใจคล้อยตาม ดังนั้น เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้าง ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ต้องสืบทอดแนวคิดว่าก่อนที่เราจะถ่ายทอดให้ใคร ตัวเราต้องทำเองก่อน “คน พช. ถ้าจะสอนใครต้องทำให้เขาดูก่อน ถึงจะเป็นของดีจริง” เมื่อตัวเราทำก่อนแล้ว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากต้องการพัฒนาในวงกว้าง อย่างรวดเร็ว เราต้องพยายามไปทำให้ผู้นำทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ หรือผู้นำตามธรรมชาติ ได้มีดวงตาเห็นธรรม หรือเห็นดีเห็นงาม ในการทำสิ่งที่ดี โดยเฉพาะสิ่งที่ดีนั้นต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่
ทำเป็นฤดูกาล หรือหยุดเป็นพักๆ ถ้าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีนั้นต้องทำเป็นปกติ หรือทำเป็นประจำ หน้าที่ของคนกรมการพัฒนาชุมชน คือ ต้องไปโน้มน้าว ชักชวนให้ผู้นำทุกระดับ เห็นดีเห็นงาม เป็นตัวอย่างทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ให้ผู้ที่เชื่อถือผู้นำทำตามด้วยความเชื่อมั่น เกิดความยั่งยืน จนเป็นวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรม
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานคำขวัญ “พัฒนา คือ สร้างสรรค์” หมายถึงต้องสร้างสรรค์ และต้องตั้งใจทำ นั่นหมายถึงงานของผู้นำจิตอาสา ที่ต้องทำให้เกิด Change for Good เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด จึงขอให้พี่น้องชาว พช. ร่วมกันขับเคลื่อนงานผู้นำจิตอาสาให้เป็นการปฏิบัติบูชา เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโครงการจิตอาสา เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน
เช่นเดียวกับทฤษฎี Butterfly Effect หรือเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว การที่จะแก้ไขปัญหาสังคมไทย ไม่ให้รวยกระจุก จนกระจาย เราจึงต้องค้นหาชุมชนต้นแบบ และผู้นำต้นแบบ ให้เป็นโมเดลการพัฒนา เช่น ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาชุมชนเฮือนฮ่วมแฮง บ้านหนองบัวฮี ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ,บ้านป่าบุก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ,ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด, ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และวัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขยายผลการพัฒนาให้กับทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,086 หมู่บ้าน ต่อไป
ขอให้คนกรมการพัฒนาชุมชนทุกคน ตั้งมั่น ตั้งใจ แน่วแน่ ด้วยการการ Kick off ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนายชุมชนทั้ง 76 จังหวัด ขยายผลไปสู่ 15 ล้านครัวเรือน ให้เกิดเป็นศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน เปรียบเสมือนเป็นหัวขบวนรถไฟทำงานร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ในรูปแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดเป็นศูนย์ต้นแบบแห่งการให้ความรัก ความปรารถนาดี ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นจิตอาสา ทำให้ทุกครัวเรือนเป็นจิตอาสา ทำให้ทุกคนเป็นจิตอาสา ทุกครัวเรือนก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืน และพอเพียง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ คุณอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด ได้เล่าถึงการขับเคลื่อน “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาชุมชนเฮือนฮ่วมแฮง บ้านหนองบัวฮี ตำบลหนองบัวฮี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยหลัก 3 ฮ. เฮือน (บ้าน) ทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เป็นตัวอย่าง ฮ่วม (ร่วม) เป็นการร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วน แฮง (แรง) ความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ โดยได้กล่าวข้อคิดเห็นในการทำงานว่า “กระบวนการเรียนรู้เพื่อค้นพบคุณค่าและความหมาย ถ้าเราไม่เข้าใจวิธีคิดก็จะติดที่วิธีทำ งานดีกว่าเดิมเป็นไปได้ เกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจ”
อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้ายถึงคุณสมบัติของผู้นำ สาม ประการ ควรประกอบด้วย 1) วัตรปฏิบัติ คือการทำให้เป็นต้นแบบ ให้เห็นผลงานเป็นรูปธรรม 2) ให้มีใจเป็นจิตอาสา เสียสละ มี Passion หรือแรงปรารถนา มีใจรักเพื่อนมนุษย์ อยากให้เขามีความสุข 3) ลงมือปฏิบัติช่วยเหลือผู้คนทันที โดยยึดหลัก ททท. (ทำทันที)