กรมควบคุมโรค แนะชาวไทยเชื้อสายจีนที่จะประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษและไหว้เจ้าในวันสารทจีนที่จะถึงนี้ ยึดหลักปฏิบัติความปลอดภัย 9 ประการ
ไหว้เจ้าสุขใจ ปลอดภัยโควิด 19 อาทิ เลือกซื้อของไหว้สด สะอาด และปรุงสุกด้วยความร้อน งดการร่วมวงทานอาหารร่วมกัน ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลดการพูดคุยสัมผัสใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคือผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และเด็ก ระมัดระวังอันตรายจากการจุดประทัด เผากระดาษเงิน กระดาษทอง และควันธูป อาจทำให้เกิดอันตราย ระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจได้
วันนี้ (18 สิงหาคม 2563) นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสารทจีนทุกปี ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนจะจัดพิธีไหว้บรรพบุรุษและไหว้เจ้า อาจมีการจุดประทัดเพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและทำให้กิจการเจริญรุ่งเรืองตามความเชื่อสืบต่อกันมา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม 2564 และอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 ทั่วประเทศ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกจังหวัด รวมวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตวันละกว่าร้อยราย กรมควบคุมโรค จึงแนะนำ หลักปฏิบัติในช่วงเทศกาลสารทจีน 9 ประการ เพื่อไหว้เจ้าอย่างสุขใจ และปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ดังนี้
1. หากผู้สูงอายุต้องไปซื้อของที่ตลาดควรให้ลูกหลานไปแทน โดยเลือกซื้อของไหว้ที่ “สด สะอาด” คือ เลือกบริโภคเนื้อไก่หรือเป็ด และไข่ที่ปรุงสุก สะอาดหากไปตลาดค้าสัตว์ปีก ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสัตว์ปีกจากร้านที่สะอาด ปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกที่ออกโดยกรมปศุสัตว์
2. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจล 70 % ทุกครั้ง ก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ สัมผัสสิ่งสกปรก หรือหยิบจับสัมผัสสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสัตว์และสารคัดหลั่งของสัตว์ และก้านธูป
3. สวมหน้ากากอนามัย 100 %ตลอดเวลา แยกของใช้ส่วนตัว แยกการรับประทาน งดการร่วมวงทานอาหารร่วมกัน แยกแก้วน้ำ รวมทั้งแยกสิ่งของใช้แล้วใส่ถุงขยะ เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปสู่คนในครอบครัว
4. ควรเว้นการกอดหรือหอมผู้สูงอายุในบ้านโดยตรง ลดการพูดคุยกัน เว้นระยะห่างระหว่างกัน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และเด็ก
5. หากมีการจุดประทัดตามความเชื่อ ต้องไม่จุดใกล้วัตถุไวไฟ หรืออาคารบ้านเรือน ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้บริเวณที่จุดเพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ห้ามให้เด็กจุดประทัดเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายบาดเจ็บรุนแรงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และหากเกิดอุบัติเหตุให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้รีบห้ามเลือดและใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลหรือพันผ้าเหนือบาดแผลให้แน่นเพื่อลดการเสียเลือด และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 ทันที
6. การไหว้บรรพบุรุษและไหว้เจ้า ให้ทยอยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไหว้ ไม่ไหว้พร้อมกันในครั้งเดียวเพื่อลดความแออัด และใกล้ชิด
7. ระมัดระวังการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง การจุดธูปเทียน ควรเผากระดาษฯในที่โล่งแจ้ง เผาทีละน้อยๆ และอยู่เหนือลม ป้องกันการสูดไอระเหยของสารพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้จุดหรือผู้เผารวมถึงผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ควันจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ ส่วนธูปแนะนำให้ใช้ชนิดสั้น เพื่อลดควัน และระยะเวลาเผาไหม้ ควรจุดในที่อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงปักธูปลงบนอาหารที่ไหว้ เนื่องจากสารเคมีที่เคลือบก้านธูป จะปนเปื้อนในอาหาร อาจเป็นอันตรายเมื่อรับประทานอาหารเข้าไป
8. ห้องที่ทำพิธีไหว้ ให้เปิดพัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศหรือควันธูปเทียน และให้หลีกเลี่ยงการพักผ่อนนอนหลับในห้องและบริเวณที่จัดพิธี และเมื่อธูปเทียนดับแล้วควรทิ้งเวลาสักระยะหนึ่งก่อนเข้าไปใช้ห้องหรือบริเวณดังกล่าว
9. การรับประทานอาหารหลังจากพิธีไหว้แล้ว ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ปรุงสุกด้วยความร้อน และอุปกรณ์บรรจุทุกชิ้นต้องสะอาด ที่สำคัญต้องแยกรับประทาน ไม่รับประทานร่วมกัน และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
“สารทจีน เป็นเทศกาลสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน เป็นวันที่ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษ แต่จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ในปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับการดำเนินชีวิต เพิ่มความระมัดระวังไม่นำเชื้อโควิด 19 ไปให้คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง หากติดเชื้อโควิด 19 จะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุทียังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ และส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย ข้อมูลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 14 สิงหาคม 2564 พบการเสียชีวิตในกลุ่มของอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 68 จึงขอให้ลูกหลานช่วยกันรักษามาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การรักษาระยะห่าง เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านทุกคน” นายแพทย์อภิชาต กล่าว
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
วันที่ 18 สิงหาคม 2564