ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวการจัดงาน “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
ครั้งที่ 11” ภายใต้แนวคิด Sustainability with Moral : New Moral New Normal “คุณธรรมวิถีใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ Virtual Event
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของสังคมไทยในปี 2562-2564 โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid -19) และเหตุการณ์ความรุนแรง ความขัดแย้งของคนในสังคมไทย ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน มีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพิ่มขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้หน่วยงานองค์กร เครือข่ายทางสังคมทุกภาคส่วน และคณะกรรมการจัดงานฯ ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน และหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วน เวทีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งนี้ จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะระดมพลังภาคีเครือข่ายร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมหาแนวร่วมการขับเคลื่อนสังคมด้วยมิติด้านคุณธรรม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านคุณธรรมให้ประชาชน รองรับสถานการณ์วิกฤติและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทางสังคม 6 ภาคส่วน มีกำหนดจัดงาน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11” ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2564 ภายใต้กรอบแนวคิด Sustainability with Moral : New Moral New Normal “คุณธรรมวิถีใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายหลักในการทำงานระยะ 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลางการเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมทุกภาคส่วน ในการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมในวิถีใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อขยายผลสู่การปฏิบัติตามบริบทองค์กรและเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า การจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ถือเป็นครั้งสำคัญและเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ที่ศูนย์คุณธรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย
ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนคุณธรรมก็คือ “คนดีมีพื้นที่ยืน” และ “ความดีมีพื้นที่ในสังคม” โดยใช้โมเดลการขับเคลื่อนคุณธรรมในรูปแบบ “Honey Bee Model Approach” ซึ่งเป็นการนำธรรมชาติของ “ผึ้ง” ที่มีความขยัน อดทน มุ่งมั่น ในการสร้างรังผึ้ง เปรียบเสมือนการสร้าง Network of network ที่คล้ายกับการทำงานของศูนย์คุณธรรมใน 6 แพลตฟอร์ม โดยมีเครือข่ายทางสังคม 6 เครือข่ายหลักที่นำพาสิ่งดี ๆ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เทียบเคียงกับธรรมชาติของผึ้งที่ตอมแต่สิ่งดี ๆ จากดอกหนึ่ง ไปยังอีกดอกหนึ่งนั่นเอง ซึ่งนี่คือแนวการทำงานแบบ Appreciate Inquiry (AI) ที่ศูนย์คุณธรรมกำลังทำ คือการแบ่งปันความดี ใช้พลังบวก ให้เกิดตัวอย่างที่ดี สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ ให้เกิดการ โชว์-แชร์-เชื่อม นำสิ่งที่ดีมาขยายผล ในสังคมนั่นเอง
“แนวโน้มสถานการณ์คุณธรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19” พบว่า ทำให้ประชาชนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมคุณธรรมอย่างน้อย 4 ประการ ที่ยังคงอยู่เป็นวิถีแห่งชีวิต คือ 1.พอเพียง รู้จักประมาณตน ไม่ประมาทในชีวิต 2.มีวินัย มีความเกรงใจ เคารพกติกาของสังคม รับผิดชอบต่อส่วนรวม 3.สุจริต ซื่อตรงต่อตนเอง ต่อส่วนรวม ไม่กอบโกยหรือทำเพื่อส่วนตัว 4.จิตอาสา มีน้ำใจช่วยเหลือ แบ่งปัน ทั้งแรงกาย เงินทุน สิ่งของและอื่น ๆ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ขณะเดียวกันแนวโน้มสถานการณ์ข่าวโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือน มกราคม-กรกฎาคม 2564 พบว่า มีการนำเสนอข่าวด้านลบประมาณ 15% ในขณะที่ข่าวด้านบวกมีการนำเสนอประมาณ 5% ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมภาวะปัจจุบันประชาชนจึงเกิดความเครียดสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในสถานการณ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหาทางออกร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรให้ในแต่ละวันมีข่าวด้านดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มพลังบวกให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น และออกมาร่วมกันทำความดีให้สังคมส่วนรวมต่อไป”
การจัดงาน “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11” ในปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ 100% หรือ Virtual Event เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid -19) โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ “การส่งเสริมคุณธรรมในวิถีใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พิธีมอบรางวัลบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจที่มีพฤติกรรมควรค่าแก่การยกย่อง ครั้งแรกกับ การประกาศผลรางวัลสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมอวอร์ด ปี 2563 และมีการยกย่องสื่อสร้างสรรค์ 9 ประเภท กิจกรรม Moral Talk จากผู้สร้างแรงบันดาลใจและศิลปินดารา การเสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมวิถีใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายทางสังคม 6 กลุ่มเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายองค์กรภาครัฐ เครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายศาสนา เครือข่ายการศึกษา เครือข่ายสื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน เด็กเยาวชนและครอบครัว ผ่านระบบ zoom
การระดมความเห็นจากผู้แทนกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด และกลไกระดับกระทรวง 20 กระทรวง จัดทำข้อเสนอต่อแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 เพื่อส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อนำไปส่งมอบให้กับคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรแห่งชาติต่อไป
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานสามารถชมนิทรรศการออนไลน์ในรูปแบบ Virtual Event Exhibition ที่มีการ
นำเสนอข้อมูล สื่อ องค์ความรู้ เครื่องมือการส่งเสริมคุณธรรม หลักสูตรที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรม กรณีตัวอย่างการส่งเสริมคุณธรรมของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ และการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงประเด็น อาทิ Social credit การขับเคลื่อนองค์กร/ชุมชนต้นแบบคุณธรรม ผลการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ และกระบวนการสมัชชาคุณธรรมในระดับจังหวัดคุณธรรม 4 จังหวัด/ภาค และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และองค์ความรู้อื่นๆ กว่า 30 รายการ
ผู้ที่สนใจเข้าชมงานสามารถสแกน QR Code เพื่อเข้าสู่ระบบการลงทะเบียน จากนั้นกรอกข้อมูลให้และรอรับอีเมลยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จ เมื่อถึงวันจัดงานเข้าสู่ระบบโดยกรอกอีเมลที่ใช้ลงทะเบียน เพื่อรับชม Virtual Event โดยกดที่ปุ่ม Lobby จากนั้นก็สามารถเข้าชมงานได้ทันที
ติดตามข้อมูลการจัดงานได้ที่ www.moralcenter.or.th และ Facebook Fanpage : ศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand