10 สิงหาคม 2564
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้นโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เร่งรัดเปิดตลาดใหม่ให้มีผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั้งในตลาดภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา ล่าสุดสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 ได้จัดโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา ในสินค้าอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไทยได้มีโอกาสเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์กับผู้นำเข้ารายสำคัญในแต่ละภูมิภาคในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้การเดินทางไปเจรจาการค้าในต่างประเทศยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยโครงการจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564 ระหว่าง เวลา 06.00 – 21.30 น. ผ่านระบบออนไลน์
” ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ส่งออกจำนวน 123 บริษัท และมีฝั่งประเทศผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ และมีมูลค่าการสั่งซื้อ ประมาณ 52 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ สินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องมือแพทย์ และ สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โดยมีผู้นำเข้าหลายราย แสดงความประสงค์ที่จะขอข้อมูลสินค้าและรายละเอียดเพิ่มจากผู้ส่งออกไทย เพื่อทำการเจรจาการค้าเพิ่มเติมต่อไปในภายหลัง อย่าลืมว่าภูมิภาคตะวันออกกลาง อุดมไปด้วยพลังงานน้ำมัน ฐานะทางเศรษฐกิจดี เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เป็นตลาดเเรงงานที่มีศักยภาพ เป็นเเหล่งเงินทุนที่สำคัญและยังเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าในประเทศได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรภายในประเทศ จึงต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ด้านสถานะทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางตั้งเป้าหมายเป็นประเทศแรกของโลกที่ฟื้นตัวจาก COVID-19 จึงเร่งอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาล รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าอีกครั้ง ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 132,235.89ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา 13.78 % ประเทศ 3 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดคือ 1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2. ซาอุดิอาระเบีย 3. ตุรกี สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น” นางมัลลิกา กล่าว
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่า ด้านภูมิภาคแอฟริกา เป็นตลาดใหม่ซึ่งเป็นเป้าหมายนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำชับให้เปิดตลาดเพราะเป็นที่กำลังเติบโตและมีความต้องการสินค้าอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตะวันตก และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาได้รวมตัวกันประกาศเริ่มใช้ความตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Area : AfCFTA) ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นเขตการค้าเสรีที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก (54 ประเทศ) ซึ่งหาก AfCFTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรกว่า 1,200 ล้านคน และเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก มีขนาด GDP กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2593 มีการประเมินว่า AfCFTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกา รวมทั้งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโครงสร้างการค้าในทวีปแอฟริกาในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันประเทศในทวีปแอฟริกามีการค้าระหว่างกันน้อย และต้องพึ่งพาการค้ากับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นหลัก จะส่งผลให้มูลค่าการค้าภายในทวีปเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2567 ทำให้ทวีปแอฟริกามีรายได้โดยรวมมากขึ้น 450,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
” และ AfCFTA น่าจะส่งผลในด้านบวกต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปแอฟริกา จากจำนวนประชากรในทวีปแอฟริกาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ชาวแอฟริกันจึงมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังส่งผลดีในแง่ที่กฎระเบียบของสมาชิก AfCFTA จะมีความโปร่งใสและใกล้เคียงกันภายในทวีปมากขึ้น การส่งออกของไทยไปภูมิภาคแอฟริการะหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 96,834.97ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา 20.4% ประเทศ 3 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด ได้แก่ 1. แอฟริกาใต้ 2. อียิปต์ 3. ไนจีเรีย สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
และสำหรับ ภูมิภาคลาตินอเมริกา คาดว่าเศรษฐกิจลาตินอเมริกาในปี 2564 จะปรับตัวดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก การผ่อนคลายมาตรการควบคุมด้านเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศได้อีกครั้ง ล่าสุดมีการนำเข้าสินค้าประเภทปัจจัยการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดภูมิภาคนี้ การส่งออกของไทยไปภูมิภาคลาตินอเมริกาในปี 2563 มีมูลค่า 194,963.26 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกในปี 2564 (ม.ค. – มิ.ย.) มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 127,568.19 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.22 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 สำหรับประเทศ 3 อันดับแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดได้แก่ 1. เม็กซิโก 2. บราซิล และ 3. อาเจนตินา ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังภูมิภาคนี้ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางรถยนต์) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภูมิภาคลาตินอเมริกาในปี 2564 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากเดิมที่ขยายตัวติดลบร้อยละ 5.3 ในปี 2563 ทำให้ตลาดนี้จึงมีความสำคัญ
” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ในฐานะหัวหน้าภารกิจเซลล์แมนประเทศไทยได้ติดตามกำกับนโยบายเปิดตลาดใหม่-ฟื้นตลาดเก่า เพื่อเพิ่มสัดส่วนการส่งออกในสถานการณ์นี้และอนาคตอย่างต่อเนื่อง จากบางประเทศก็เป็นตลาดเก่าในบางสินค้าของเรา เช่นข้าวในซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา เป็นต้น แต่ทั้งสองประเทศนี้ก็มีสินค้าประเภทอื่นที่จะสามารถเปิดตลาดใหม่ได้มาก นายจุรินทร์เน้นการทำงานเชิงรุกและทำงานเป็นทีมให้เชื่อมประสานระหว่างเซลล์แมนประเทศไทยคือทูตพาณิชย์ในต่างประเทศที่ประจำการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้กว่า 13 แห่งรวมทั้งทั่วโลกก็ 58 แห่งก็เช่นกัน นอกจากนั้นยังเน้นวิสัยทัศน์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต ให้พาณิชย์จังหวัดซึ่งทำหน้าที่เซลล์แมนจังหวัด ทำภารกิจที่ต้นทางในการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดต่างประเทศ เพื่อโอกาสของประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วย ” นางมัลลิกา กล่าว