รวมพลังภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล เปิดผลงานเด่นบนคลาวด์กลางภาครัฐในงาน“Gov Cloud 2020”ขณะที่หน่วยงานรัฐเข้าโครงการเต็มเฟสแรกแล้ว เล็งขยายเฟส 2 รองรับความต้องการล้นถึงปี 2565 พร้อมก้าวสู่การบริหารประเทศด้วยบิ๊กดาต้าเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับการให้บริการของภาครัฐเพื่อประชาชน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน“Gov Cloud 2020” The Future of Digital Government ซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมผู้บริหารกระทรวงฯและหน่วยงานภายใต้กำกับ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Gov Cloud : Digital Foundation for Government Transformation” ว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นบนโครงสร้าง GDCC หรือ Government cloud และจะไม่หยุดเพียงระดับของการให้บริการด้านดิจิทัลเท่านั้น โดยก้าวต่อไปของรัฐบาลดิจิทัล คือการยกระดับระบบงานภาครัฐบน Government Cloud ให้เกิดเป็น Government as a Platform หรือแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนผ่านคลาวด์กลาง ซึ่งจะเกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในทุกภาคส่วน แบบเรียลไทม์ทันสถานการณ์ รวมไปถึงการจัดทำระบบข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open data) ที่จะเพิ่มศักยภาพและความโปร่งใสของข้อมูลภาครัฐในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านบริการประชาชน ด้านการเงิน ด้านสาธารณสุข ด้านพลังงาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการสื่อสาร และด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ฯลฯ และยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยในกระแส New Normal และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ความสำเร็จเบื้องต้นที่น่าพอใจคือจำนวนหน่วยงานที่ใช้งาน Gov Cloud เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบบของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้เริ่มมีการใช้งานจริงในการแก้ไขปัญหาและให้บริการต่างๆ โดยหน่วยงานที่ใช้ระบบคลาวด์ GDCC ในการพัฒนาระบบงานและเพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชนได้เข้ารับมอบโล่เกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรีในงาน Gov Cloud 2020 ได้แก่
1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พัฒนาระบบ EEC-OSS โดยเป็นช่องทางคัดกรองและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน สามารถเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยบริการแบบ One-Stop Service
2. กรมการขนส่งทางบก ผลงาน ‘Smart Bus Terminal’ ระบบติดตามรถโดยสารประจำทาง แสดงตารางการเดินรถแบบเรียลไทม์ของสถานีขนส่ง 81 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน GPS Tracking ที่ติดตั้งบนรถโดยสารประจำทางทุกคัน สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางได้ตลอดเวลา
3. ตำรวจภูธรภาค 8 พัฒนาระบบโครงการภาค ๘ “4.0” ในแอปพลิเคชัน POLICE 4 ด้วย 4 ฟังก์ชั่นที่โดดเด่น คือ Crime Mapping แผนที่อาชญากรรมหลายมิติ, CCTV Mapping แผนที่กล้องวงจรปิดทุกตัว, Red Box QR Code ใช้แทนสมุดตรวจแบบเดิม และ Stop Walk Talk and Report ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์
4. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบ Digital Healthcare Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลสาธารณสุขซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกระบบที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 มาไว้ส่วนกลาง ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC (National Energy Information Center) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานให้กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ คาดการณ์ด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวว่า ระบบคลาวด์กลางหรือ Gov Cloud จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านไอทีให้กับรัฐบาลเพื่อก้าวสู่การทำงานแบบรัฐบาลดิจิทัลตามแผน โดยปี 2563 ได้เน้นบริหารจัดการ Cloud Infrastructure เพื่อให้บริการทรัพยากรระบบคลาวด์แก่หน่วยงานรัฐซึ่งล้วนมีความตื่นตัวกับเทคโนโลยีและให้ความสนใจอย่างมากในการนำระบบงานมาใช้บนคลาวด์กลาง ภายในปี 2564 มุ่งสู่การสร้างบริการระดับแพลตฟอร์มที่ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมต่อกันได้ จากนั้นปี 2565 โฟกัสการขยายผลการใช้ AI ในด้านเกษตรกรรม และด้านอื่น ๆ รวมทั้งการนำร่องระบบ Data Sharing มีการแบ่งปันข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์มกลางเพื่อขยายผลนำไปสู่การใช้ AI และ IoT ในวงกว้าง และภายในปี 2566 มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายการให้บริการข้อมูลภาครัฐแบบเปิดในรูปแบบ Government as a Platform ที่มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันด้วยแพลตฟอร์ม มุ่งไปสู่การให้บริการภาครัฐแบบเปิดอย่างแท้จริง
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า Gov Cloud ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐเกินคาดหมาย จากความตื่นตัวของภาครัฐในการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล หลังจากโครงการ Gov Cloud เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2562 ได้มีหน่วยงานรัฐเข้าใช้งานระบบเต็มจำนวนในเฟสแรกโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนย้ายระบบงานขึ้นสู่เซิร์ฟเวอร์เสมือน (Virtual Machine) รวม 12,000 VM ภายในต้นปี 2564 จำนวนนี้รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่ใช้งานระบบ G-Cloud ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ที่ต้องโอนย้ายระบบงานทั้งหมด 3,500 VM มายัง Gov Cloud และยังคงมีคำขอเข้าใช้ระบบในคิวเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดคำขอใช้บริการรวม 472 หน่วยงาน รวม 1,570 ระบบงาน หรือประมาณ 24,118 VM ซึ่งเกินกว่าที่โครงการได้จัดเตรียมไว้ สดช. จึงมีแผนขยายโครงการในเฟส 2 เพื่อรองรับความต้องการของหน่วยงานรัฐที่รอใช้ระบบ พร้อมกับเน้นการสร้างบุคลากรไอทีภาครัฐให้มีทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้งด้วยหลักสูตร GOCC โดยที่ผ่านมาได้จัดอบรมแล้ว 4 รุ่น พัฒนาเจ้าหน้าที่ไอทีภาครัฐกว่า 500 คน ให้สามารถบริหารระบบคลาวด์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ Gov Cloud ให้บริการหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับ cloud infrastructure ด้วยมาตรฐานการคัดแยกข้อมูล หรือ data classification ที่ออกแบบรองรับการนำข้อมูลมาบูรณาการในอนาคต หรือ data sharing ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน รวมถึงต่อยอดการจัดการกับ big data พร้อมเปิด open data ข้อมูลบางส่วนให้เอกชนและประชาชน รวมถึงสตาร์ตอัพได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล
สำหรับการทำ data sharing เปิดเผยแชร์ใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (pilot 15 datasets) ได้เริ่มระบบนำร่องแล้วซึ่งแต่ละปีจะมี data set เพิ่มขึ้น และปีหน้าจะมุ่งผลักดันการทำ data sharing ระหว่างหน่วยงานหลักๆ เนื่องจากในปัจจุบันมีกฎหมายที่ออกมารองรับการใช้ข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐแล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการที่สำคัญ