พณ. ปั้นนักออกแบบรุ่นใหม่ 73 ราย นำความคิดสร้างสรรค์
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค New Economy ขยายส่งออกในยุค New Normal
กรุงเทพฯ 16 กรกฎาคม 2564: ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs และ Micro-SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากภูมิภาค ให้สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าท้องถิ่นสู่สากลตามนโยบาย Local to Global กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ปรับทิศทางหลักในการดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อสอดรับกับนโยบายดังกล่าว หนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 19 ปีแล้ว คือ โครงการ Designers’ Room & Talent Thai 2021 ที่เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจสร้างสรรค์และนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ได้รับการอบรมส่งเสริมความรู้ เร่งปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ และบริบททางการค้าในโลกยุค New Normal บนพื้นฐานความคิดของเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ New Economy ล่าสุดเพิ่งจัดกิจกรรมปฐมนิเทศในรูปแบบ Zoom Webinar ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โครงการฯ จำนวน 73 แบรนด์ โดยได้รับเกียรติจากรองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยผู้บริหารจาก DITP คัดสรรกิจกรรม ที่ช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจจาก Thaitrade.com และหลักสูตรการเรียนรู้จาก NEA รวมถึงการถ่ายทอดความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเหล่ารุ่นพี่นักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาร่วมแชร์ข้อมูลให้แก่นักออกแบบหน้าใหม่กันอย่างคับคั่ง
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ระบุว่าล่าสุดนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้กลยุทธ์ตลาดนำ การผลิตให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจยุคใหม่ New Economy เช่นBCG โมเดล ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมเพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่หรือ BCG ของภาครัฐบาล ที่มีความสอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้ที่คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความต้องการสินค้าที่มีความปลอดภัยและพร้อมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว แนวคิดการทำธุรกิจแบบ SE (Social Enterprise) หรือกิจการเพื่อสังคม จึงเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ และเป็นที่สนใจมากขึ้น รวมถึงแนวคิดในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม High Value Added เพื่อสร้างความแตกต่างให้สินค้าไทยด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยในการขับเคลื่อนธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์สินค้าไทย ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าในรูปแบบ Local to Global ได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าของประเทศไทยขยายตัวอย่างเข้มแข็ง ส่งผลดีต่อรายได้ของประชาชนทั้งจากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ในสถานการณ์ Covid-19 ทำให้พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางการตลาดในรูปแบบการค้าผ่าน DIGITAL MARKET จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนอง ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงในรูปแบบความปกติวิถีใหม่ หรือ New Normal พร้อมการใช้โมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หรือ BCG จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดจะร่วมส่งเสริมนักออกแบบไทยให้มีการสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานความคิดของเศรษฐกิจยุค ใหม่ หรือ New Economy ใน 4 ประเด็น ได้แก่ Local to Global, Circular Economy Digital Economy และ Creative Economy” นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวปิดท้าย
นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า “การดำเนินโครงการในปี 2564 ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด MAXIMIZE DIVERSITY (SHIFT CREATIVITY BEYOND BORDERS) สื่อถึงพลังแห่งความหลากหลาย สามารถยกระดับความคิดสร้างสรรค์ให้เหนือขอบเขต เพื่อให้นักออกแบบไทยพัฒนาและปรับตัว เตรียมพร้อมก้าวทันโลกการค้ายุคใหม่ โดยความพิเศษในปีนี้ได้มีการพัฒนาหลักสูตรและแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร โดยได้การบูรณาการองค์ความรู้ในรูปแบบเวิร์กช้อปร่วมกับพันธมิตรของโครงการดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่ หลักสูตร “ความรู้พื้นฐานของการเป็นนักออกแบบระดับสากล” และหลักสูตร “ค่ายบ่มเพาะนักออกแบบไทยสู่สากล” ระหว่างการอบรมมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพธุรกิจเน้นการลงมือปฏิบัติจริงผ่านแบบทดสอบของโครงการ เช่น เรียนรู้แนวคิดการทำธุรกิจแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) กับกิจกรรม Talent Thai & Designers’ Room x Limited Education ผนึกพลังนักออกแบบร่วมสร้างสรรค์ผลงานสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่ความร่วมมือระดมทุนเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เด็กไทยทั้ง 4 ภาค, การฝึกทักษะการค้าออนไลน์โดยนำสินค้าไปทดสอบตลาดบนแพลตฟอร์ม e-commerce ชั้นนำกับกิจกรรม Pop Up Store SHOPEE x Talent Thai & Designers’Room, กิจกรรมCollaboration Project รับโจทย์การออกแบบร่วมกับแบรนด์ดังชั้นนำของไทย สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง Circular Economy, Local Economy และ Digital Economy เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อมั่นว่านักออกแบบในโครงการจะได้รับการเสริมทักษะและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจสู่สากลแน่นอน”
นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กล่าวว่า “Thaitrade.com และกิจกรรมส่งเสริมการค้าในรูปแบบออนไลน์ของสํานักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล ได้เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเชื่อมโยงคู่ค้าในทั่วโลก ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้าในรูปแบบ B2B และ B2C รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถสมัครเข้าร่วมsook.thaitrade.com ที่มีออเดอร์ขนาดเล็กในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ ทั้งนี้จึงอยากเชิญชวนนักออกแบบและผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการใน Thaitrade.com และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วม sook.thaitrade.com โดยจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเนื่องจากการเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้แก่คู่ค้า (credibility) ในการเข้ามาทำตลาด ช่วยในการเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขายทั่วโลก (World class business) และการมีศูนย์ให้คำแนะนำในการขยายธุรกิจอย่างครบวงจร (Expand business) นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business matching : OBM) สร้างโอกาสทางการค้าตลอดทั้งปีอีกด้วย”
นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA กล่าวว่า “NEA มีหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจสู่สากล มากกว่า 47 หลักสูตร เพื่อร่วมส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการไทย และการให้คำแนะนำทำตลาดออนไลน์แบบไร้พรมแดน รวมถึงการหลักสูตรแนะนำเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของประเทศจีนและกลุ่มประเทศ CLMV และหลักสูตร The Guru จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่จะเข้ามาแนะนำการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าขยายตลาดสู่ต่างประเทศในเชิงลึก ขณะเดียวกันยังมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่จะให้คำแนะนำแก่คนรุ่นใหม่ในการก้าวสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และยังมีหลักสูตรในการทำธุรกิจที่เสริมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย พร้อมเปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้เสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ทางธุรกิจ ทั้งหมดจะเป็นการร่วมขับเคลื่อนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ส่งผลดีต่อการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์”
###
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการฯ
ได้ที่เฟสบุ๊ค Talent Thai & Designers’ Room
สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
พรพรรณ ฉวีวรรณ (แก้ว) โทร. 086-551-3403 อีแมล [email protected]
สุทธินาถ (แน๊ตตี้) โทร. 082-947-9565 อีเมล [email protected]