


สมาคม Thai Subcon และ สถาบัน MARA ยกระดับความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ตอบรับเป้าหมายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการขับเคลื่อนทักษะแรงงานสมองกล ฝึกเทคโนโลยีชั้นสูง สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รองรับ EEC ปี 2564 จำนวนกว่า 5,000 คน

จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปี 2561 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรง จึงได้ลงนามคำสั่งจัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างโอกาสในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นป้อนแรงงานให้แก่กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในปี 2563 นี้


ในส่วนของ กพร. ได้ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังคนของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ขับเคลื่อนโดย MARA สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ฝึกทักษะให้แก่แรงงานในโครงการพัฒนาทักษะกำลังแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป้าหมาย 6,400 คน ดำเนินการแล้ว 6,370 คน และในปี 2564 เป้าหมาย 5,440 คน ซึ่งเน้นด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งนี้ มุ่งเน้น Upskill Reskill และ New skill กลุ่มเป้าหมายบุคคลทั่วไป นักศึกษาจบใหม่ แรงงานในระบบ และผู้ว่างงานที่มีทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับงานช่างฝีมือ ผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นรวมถึงเน้นทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ

หน่วยงาน กพร. ในเขต EEC ซึ่งประกอบด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา และสถาบันพัฒนาบุคลกรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ได้ร่วมกับสถานประกอบกิจการดำเนินการจัดทำหลักสูตรและผ่านการอนุมัติจากสกพอ. แล้ว 21 หลักสูตร และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินจัดฝึกอบรมจำนวน 9 หลักสูตร 11 รุ่น ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง เช่น สาขาการซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาเครื่องปรับอากาศในอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการตรวจสอบงานเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาการควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม WELDEX ด้วยโปรแกรม CRP และ LNC สาขาช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 158 คน สำหรับในปี 2564 เป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมอีกจำนวน 400 คน


สืบเนื่องจาก MARA ในปัจจุบันนั้น ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรประกอบการอบรมที่มีราคาค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถลงทุนซื้อเครื่องจักรเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตของบริษัทตนได้ ทำให้กลุ่มผู้เข้าอบรมที่เป็น SMEs รายย่อย หลังจากอบรมกับสถาบัน MARA แล้ว ไม่สามารถจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์แบบที่ใช้ในการอบรมกับสถาบัน กลับไปใช้ประโยชน์ที่สถานประกอบการของตนเองได้
องค์ความรู้ที่ได้รับจึงไม่สามารถนำไปกับพัฒนากระบวนการผลิตในโรงงานของตนเองได้อย่างเต็มร้อย สมาคม Thai Subcon ซึ่งมีสมาชิกเป็นโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมขนาด SMEs จำนวนกว่า 500 บริษัท และสมาชิกบางส่วนอยู่ในพื้นที่ EEC ยิ่งไปกว่านั้นใน Thai Subcon ก็มีการขับเคลื่อนกลุ่มสมาชิกในคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรมของสมาคมฯ เราจึงตระหนักดีว่าความต้องการของ SMEs โดยเฉพาะจากสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์มีความต้องการอย่างไร ความสำคัญของเครื่องจักรที่ใช้ในการอบรมจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึง และตัดสินใจนำเอาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตในโรงงาน ให้ทันสมัยและมีคุณภาพเท่าเทียมหรือเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ได้ การฝึกอบรม ความทุ่มเทจากสถาบัน MARA ก็จะบรรลุผลทำให้การอบรมและความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไทย สำเร็จลุล่วงได้ผลลัพธ์เต็มประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับทั้งสมาชิกสมาคม Thai Subcon และผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย


ในการนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ สมาคม Thai Subcon โดย นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคม จึงได้มอบหุ่นยนต์เชื่อมโลหะ WELDEX รุ่น W-14iE พร้อมอุปกรณ์ครบชุดจากบริษัท เวลเด็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสมาชิกในคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติพื่อการอุตสาหกรรมของสมาคม ส่งมอบให้กับสถาบัน MARA โดยมีรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายชาคริตย์ เดชา เป็นตัวแทนสถาบันในการรับมอบครั้งนี้
อนึ่งหุ่นยนต์เชื่อมโลหะ WELDEX รุ่น W-14iE นั้น เป็นหุ่นยนต์เชื่อมประเภทมิก ขนาด 1.4 เมตร เหมาะสำหรับงานเชื่อมโลหะประเภทเหล็กและสเตนเลส สร้างและพัฒนาให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง สามารถเชื่อมงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ใช้ระบบควบคุมจากประเทศไต้หวัน มีระบบรองรับ Factory 4.0 ได้ในอนาคต