

กระทรวงสาธารณสุข ตั้ง โรงพยาบาลบุษราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ขนาด 1,200 เตียง ขยายได้ถึง 5,000 เตียงรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการกลุ่มสีเหลือง จาก กทม. พร้อมเปิดกลางเดือนพฤษภาคม

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมรับมอบเตียงกระดาษจาก บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด สนับสนุนเพื่อสำหรับใช้ในโรงพยาบาลบุษราคัม เบื้องต้นจำนวน 3,500 เตียง


นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ที่ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับสถานการณ์โควิด19 ใน กทม. และพื้นที่โดยรอบที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เหมาะสมมีขนาดใหญ่ มีความสะดวกในการรับและส่งต่อ สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการกลุ่มสีเหลืองจาก กทม. มาดูแลรักษา ทั้งจากในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และจากสายด่วนต่างๆ เป็นการช่วยให้โรงพยาบาลในเขต กทม. มีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการได้กลางเดือนพฤษภาคม

“โรงพยาบาลบุษราคัม เป็นการทำงานร่วมกันของทุกกรม ในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ ผู้ป่วยทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยไว้ที่บ้าน ขอให้ประชาชนมั่นใจระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่มีการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ภายนอก การบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะติดเชื้อ” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะรองรับผู้ติดเชื้อประมาณ 1,200 เตียง สามารถขยายได้ถึง 5,000 เตียง ให้บริการดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิดครบวงจร รวมไปถึงการดูแลสุขภาพจิตของผู้ติดเชื้อ มีความพร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้แก่ รถ X-ray เคลื่อนที่ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เครื่องช่วยหายใจประมาณ 100 ตัว มีโซนทำหัตถการ โดยใช้ทรัพยากรจากเขตสุขภาพที่ 4 และระดมบุคลากร เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่จากหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศหมุนเวียนมาให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ช่วยดูแลจัดการการเข้า-ออกพื้นที่ และระบบดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง