ทาเลนท์ โซลูชั่นส์ โดย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เผยรายงานผลการวิเคราะห์ระดับโลก “ดัชนีแรงงานในภาพรวม” โอกาสสู่ความท้าทายและวางแผนกำลังคนรับมือยุคความปกติถัดไป
ชูทักษะไอทีหนุนการทำงาน ดันแรงงานฉุกเฉิน (กลุ่มงานระยะสั้น) โต
หากพูดถึงเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล “ทักษะ (Skill)” นับเป็นหัวใจสำคัญของแรงงานที่จะขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจให้มีการเติบโต จากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการทำงานในรูปแบบการทำงานทางไกลที่สอดคล้องกับวิถีความปกติใหม่ (New Normal) โดยจะได้เห็นเพิ่มมากขึ้นทั้งจากฝั่งนายจ้างและแรงงาน นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ต้องใช้มาตรการที่ไม่ได้ระบุไว้ในแผนฉุกเฉินมารับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ ล่าสุด ทาเลนท์ โซลูชั่นส์ โดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ป จัดทำการสำรวจตลาดแรงงานจาก 76 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ดัชนีแรงงานภาพรวม หรือ Total Workforce Index (TWI) เพื่อมาวิเคราะห์, วางแผน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมหนุนเสริมทัพศักยภาพองค์กรด้วยไอที และดันแรงงานฉุกเฉินเติบโต
ทางด้าน เบ็คกี้ แฟรงกีวิช ประธานแมนพาวเวอร์กรุ๊ป อเมริกาเหนือ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนทำงาน (แรงงาน) เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเป็นระยะไกลในชั่วข้ามคืน บางองค์กรจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายและแรงงานลง ในขณะที่บางองค์กรต้องเพิ่มจำนวนการผลิตอย่างทันทีทันใด ทักษะด้านไอทีที่สนับสนุนการทำงานจากระยะไกล เช่น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างสูงเช่นเดียวกับบุคลากรด้านการแพทย์, บุคลากรปฏิบัติการและโลจิสติกส์ “ ที่จำเป็นอย่างยิ่ง”
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบทบาทและทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยผลักดันให้เกิดแรงงานฉุกเฉินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรูปแบบธุรกิจที่มีการปรับปรุงใหม่ ถึงแม้จะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิถีของ โควิด-19 แต่องค์กรต่างๆ ก็มุ่งมั่นที่จะฟื้นธุรกิจให้กลับมาเหมือนเดิม สำหรับนายจ้างจะมองภาพระยะยาวเกี่ยวกับแรงงานทั้งหมด รวมถึงการปฏิบัติงานทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจไม่ใช่เฉพาะแต่ความต้องการด้านทักษะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความต้องการตามสถานที่ด้วย เพื่อประเมินและกำหนดว่าบุคลากรส่วนใดสามารถทำงานที่บ้านได้และส่วนใดบ้างต้องเข้ามาทำงานในสำนักงาน รวมทั้งยังประเมินถึงมาตรการด้านความปลอดภัยและการป้องกันเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจยังสามารถดำเนินได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การที่จะระบุว่าสิ่งใดที่ยั่งยืนในความปกติใหม่นี้ การผสมผสานที่ลงตัวของลูกจ้างและไม่ใช่ลูกจ้าง, ทักษะและเทคโนโลยีในอนาคตที่จำเป็น ทั้งนี้วิธีการดำเนินงานที่ดีที่สุดภายในสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อควรพิจารณาที่เร่งด่วนในปัจจุบัน
จากการผสมผสานข้อมูลเชิงลึกและความเข้าใจ องค์กรต่างๆ สามารถมั่นใจได้ว่ากลยุทธ์ด้านกำลังคนมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ “ดัชนีแรงงานภาพรวม หรือ Total Workforce Index (TWI)” จัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว และเป็นดัชนีเดียวที่วิเคราะห์ปัจจัยมากกว่า 200 ปัจจัยจากตลาดแรงงานทั่วโลก 76 แห่ง ที่จัดทำขึ้นโดย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ทาเลนท์ โซลูชันส์ เพื่อให้ได้มุมมองที่รอบด้านและครอบคลุม โดยมีปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ความพร้อมของแรงงาน, ความคุ้มค่า (ประสิทธิภาพด้านต้นทุน), กฎระเบียบและผลิตภาพแรงงาน ให้องค์กรมาใช้ในการวิเคราะห์เจาะลึกความพร้อมของบุคลากรโดยเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่พร้อมทำงานจากระยะไกลในตลาดต่างๆ และสำรวจความพร้อมของทรัพยากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อช่วยองค์กรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคความปกติถัดไป (Next Normal)”
ทั้งนี้ จากผลสำรวจการวิเคราะห์ด้านดัชนีแรงงาน หรือ Total Workforce Index (TWI) ในปี 63 ประกอบด้วย 1. ความคุ้มค่า ซึ่งเป็นการวัดค่าจ้าง, สวัสดิการ, ภาษีและการดำเนินงาน เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น 2. ผลิตภาพ เป็นการวัดและเปรียบเทียบผลิตภาพที่เป็นไปได้ของแรงงาน โดยพิจารณาจากจำนวนชั่วโมงที่นายจ้างสามารถจ่ายให้คนงานได้ด้วยอัตราค่าตอบแทนพื้นฐาน 3. ความพร้อม หมายถึง ความพร้อมของกำลังคนเป็นการวัดและเปรียบเทียบแรงงานฝีมือ หรือแรงงานทักษะในปัจจุบันกับตลาด รวมถึงความยั่งยืนของแรงงาน โดยพิจารณาจากแนวโน้มทางประชากรศาสตร์ของแรงงาน (อายุและการหลั่งไหลของแรงงานย้ายถิ่น) และ 4. กฎระเบียบ เป็นการวัดและเปรียบเทียบข้อจำกัดเงื่อนไขและการปฏิบัติในการสร้างความผูกพันของแรงงานแต่ละองค์กร
จากภาพการจัดกลุ่มประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ด้านความพร้อมของแรงงาน คือ สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, สวิสเซอร์แลนด์, สหอาหรับเอมิเรตส์ และลักแซมเบิร์ก ซึ่งความพร้อมของกำลังคนเป็นการวัดเปรียบเทียบแรงงานที่มีทักษะในปัจจุบันแต่ละตลาดโดยพิจารณาจากแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ เช่น อายุ และความหลั่งไหลของแรงงานย้ายถิ่น ทั้งนี้ตลาดที่มีความพร้อมสูงสุดของแรงงานฝีมือที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสูง เช่น ภาษาสเปน, ฝรั่งเศส และความพร้อมของการทำงานทางไกลอยู่ในระดับสูง
ในส่วนของดัชนีด้านความคุ้มค่า จะเป็นการวัดค่าจ้าง, สวัสดิการ, ภาษีและการดำเนินงาน เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้น จากการจัดอันดับหมวดความคุ้มค่า 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์, โครเอเชีย, โมร็อคโก, เวียดนามและไทย ทั้งนี้มีปัจจัยเอื้ออำนวย เช่น ต้นทุนแรงงานและกฎระเบียบ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศโครเอเชียเข้ามาอยู่ใน 5 อันดับแรก ส่วนประเทศไทยตกจากอันดับ 1 มาอยู่ในอันดับ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง, ต้นทุนแรงงานและกฎระเบียบต่างๆ อ้างอิงข้อมูลจากปี 62 ด้านความคุ้มค่า คือ ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนน 5 อันดับแรก ซึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เนื่องจากประเทศไทยเป็นตลาดที่มีต้นทุนต่ำ, ภาษีต่ำและค่าแรงต่ำ รวมทั้งค่าล่วงเวลาที่ต่ำด้วย โดยเน้นที่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และการเพิ่มทักษะทางเทคนิค จึงทำให้ประเทศไทยได้คะแนนอันดับหนึ่งในด้านความคุ้มค่า การก้าวสู่ยุคความปกติถัดไป (Next Normal) กำลังจะเกิดขึ้น ปัจจัยด้านความคุ้มค่าของแรงงานควรบูรณาการร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความน่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ จุดเด่นในข้อนี้หากประเทศไทยสามารถพัฒนาทักษะน่าจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานในหลายภาคส่วน ที่ไม่ใช่เพียงด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่านำไปพิจารณาทางด้านกฎระเบียบมาตรฐาน ผลสำรวจชี้ว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไอร์แลนด์, ฟินแลนด์, นิวซีแลนด์, เดนมาร์กและนอร์เวย์ ตามลำดับ ส่วนของกฎระเบียบนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่านายจ้างจำนวนมากขึ้นพยายามลงทุนในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เช่น การทำงานระยะไกลและความเฉพาะเจาะจงของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน พร้อมกันนี้ยังขอเสนอให้ประเทศไทยปรับให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดแรงงานโลก
ส่วนดัชนีด้านผลิตภาพเป็นการวัดและเปรียบเทียบความเป็นไปได้ของแรงงาน โดยพิจารณาจากจำนวนชั่วโมงที่นายจ้างสามารถจ่ายให้กับลูกจ้างในอัตราค่าตอบแทนพื้นฐาน สำหรับประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในตลาด 5 อันดับแรกด้านผลิตภาพ ได้แก่ สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, มาเก๊า และฮ่องกง ซึ่งในปีนี้ฮ่องกงร่วงลงมาจากอันดับหนึ่งและประเทศแคนาดาหลุดจาก 5 อันดับแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการให้ความสำคัญกับการศึกษา และข้อจำกัดทางชายแดนที่มีส่วนสำคัญเรื่องความพร้อม รวมทั้งการแก้กฎระเบียบที่กระทบกับแรงงานชั่วคราว
พร้อมกันนี้ 5 อันดับด้านข้อมูลเชิงลึก โดยในปีนี้ความเข้าใจหลักดังกล่าวถูกผลักดันโดย “ความปกติใหม่” ให้องค์กรต่างๆ ใช้ทบทวนด้านยุทธศาสตร์แรงงานที่มีแนวโน้มที่จำเป็นต้องทำงานระยะไกลและต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้ 1. นายจ้างจำนวนมากประเมินยุทธศาสตร์แรงงานระยะไกล และความพร้อมของตลาดครอบคลุมมากกว่าแค่วิเคราะห์ต้นทุน 2. ทักษะแรงงานเป็นปัจจัยผลักดันคุณค่าและทิศทางของแรงงาน แต่จำกัดความต้องการที่เกี่ยวกับงานกำลังพัฒนาไปตามสภาพตลาดปัจจุบัน 3. นายจ้างไม่สามารถใช้เพียงองค์ประกอบของแรงงานที่มีอยู่ได้อีกต่อไป แต่ต้องดำเนินการในเชิงรุกเพื่อกำหนดสัดส่วนแรงงานประจำและชั่วคราวให้เหมาะสมที่สุด โดยยึดหลักความเร่งงานในธุรกิจ 4. บทบาทและกลุ่มทักษะใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้น ความกดดันด้านค่าจ้างอยู่ในระดับที่เข้มข้น เช่นเดียวกับความจำเป็นในการค้นหาหรือสร้างพนักงานที่มีทักษะรองรับบทบาทใหม่ๆ และ 5. แม้ตัวเลขการว่างงานจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 63 แต่ก็มีพนักงานจำนวนมากที่ไม่ได้รับการจ้างใหม่ ทำให้นายจ้างสามารถกำหนดความต้องการและโอกาสในการทำงานใหม่ได้มากยิ่งขึ้น
10 อันดับตลาดแรงงานที่มีคะแนนสูงสุด
ในแต่ละปีจะมีการปรับและเพิ่มปัจจัยใหม่ใน Total Workforce Index ™ ตามความต้องการและแนวโน้มของโลก โดยวิเคราะห์จากปัจจัย 4 ด้าน คือ ความพร้อม, ความคุ้มค่า, กฎระเบียบและผลิตภาพ สำหรับตลาดที่มีอันดับสูงสุดใน Total Workforce Index ™ คือ ตลาดที่มีประสิทธิภาพสัมพัทธ์ (Relative performance) สูงสุดทั้งสี่ด้าน และจากการเพิ่มความสำคัญให้กับความพร้อมของแรงงานในการทำงานระยะไกลมากขึ้น เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค, ความเชี่ยวชาญด้านภาษาและทักษะ ประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นจากอันดับ 5 เป็น 1 ขณะเดียวกันนิวซีแลนด์ขึ้นจากอันดับ 3 มาอยู่ที่อันดับ 2 แคนาดาเข้ามาอยู่ใน 5 อันดับแรกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากการเพิ่มปัจจัยความพร้อมของทักษะระยะไกลในดัชนีนอกเหนือจากการปรับคะแนนอื่นๆ ของปี ’63 ส่วนกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ประเทศฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์และแคนาดา เป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพความมั่นคงในตลาดแรงงานที่มีวุฒิภาวะและการเติบโตมากขึ้น รวมถึงความพร้อมของทักษะความสามารถทางภาษาและสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นปานกลาง
ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่แมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้ใช้เวลาหลายทศวรรษ ในการพัฒนากลยุทธ์และเครื่องมือเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถปรับตัวได้อย่างคล่องตัวหากต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง “ดัชนีแรงงานภาพรวม หรือ Total Workforce Index (TWI)” เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคาดการณ์และตัดสินใจเพื่ออนาคตขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการทำงานในรูปแบบการทำงานทางไกลและวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งอาจจะได้เห็นเพิ่มมากขึ้นทั้งจากฝั่งนายจ้างและแรงงาน ทั้งนี้ บทสรุปจากผลการสำรวจและวิเคราะห์ในการนำเครื่องมือ ดัชนีแรงงานภาพรวม หรือ Total Workforce Index (TWI) เพื่อชี้วัดและวิเคราะห์ศักยภาพ, ความพร้อม, ความคุ้มค่าในตลาดแรงงานและในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นทรัพยากรที่ช่วยในการทำนายซึ่งองค์การต่างๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจเพื่ออนาคต ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ, ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจอาจจะต้องผนึกพลังอย่างจริงจังในการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย ซึ่งมีจุดเด่นและศักยภาพที่ดึงดูดการลงทุน แต่สิ่งสำคัญ “ทักษะแรงงาน” ต้องพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมรับมือสำหรับการก้าวสู่ยุคความปกติถัดไป (Next Normal)