บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC ในฐานะตัวแทน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จัดงาน “Bangkok Sugar Dinner 2023” กระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าในอุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทรายจากทั่วโลก พร้อมตอกย้ำศักยภาพของประเทศในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก และการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้โมเดล BCG สู่การเติบโตบนความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
งานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ (พฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “Sweetness Connections on the Chao Phraya” ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานฯ พร้อมแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Sustainable Growth of Sugar Industry” โดยมีผู้บริหารจาก TSMC ได้แก่ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานคณะกรรมการฯ นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารฯ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล กรรมการบริหาร พร้อมคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และมร. Jose Orive กรรมการบริหาร องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ ให้การต้อนรับ
ประธานคณะกรรมการฯ ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยโดยสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ร่วมกันจัดงาน Bangkok Sugar Dinner ต่อเนื่องมาแล้ว 4 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2555 เพื่อเฉลิมฉลองผลผลิต น้ำตาลทราย 10 ล้านตันของไทย พร้อมการประชุม Sugar Conference ซึ่งได้ต้อนรับคู่ค้าในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลทรายจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน หลังจากนั้น ก็ได้จัดกิจกรรมขึ้นต่อเนื่องทุกๆ 2 ปี โดยในปี 2557 เป็นการฉลอง ความสำเร็จ ครั้งประวัติศาสตร์ที่ไทยสามารถผลิตอ้อยได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 100 ล้านตัน ต่อมาในปี 2559 งาน Bangkok Sugar Dinner 2016 ได้มีการจัดขึ้นเพื่อฉลองความสำเร็จของการผลิตน้ำตาลเกิน 9.7 ล้านตันของไทย นอกจากนี้ ในงาน “Thai Sugar Dinner 2018” ซึ่งจัดขึ้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรีในปี 2561 เป็นปีที่ไทยสามารถผลิตอ้อยได้ถึง 135 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลทรายได้ถึง 14.7 ล้านตัน ถือเป็นปริมาณการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์
“เดิม TSMC มีกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองครั้งที่ 5 ในปี 2563 แต่เนื่องจากการระบาดของ โควิด-19 จึงจำเป็นต้องเลื่อนมาปีนี้ โดยงาน Bangkok Sugar Dinner 2023 จัดขึ้นพร้อมกับการประชุม Bangkok Sugar Conference ภายใต้หัวข้อ ‘Innovative Paths, Sustainable Future’ เพื่อเป็นเวทีพบปะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับความท้าทายภายใต้บริบทใหม่ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโลก ทั้งนี้ได้รับเกียรติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในวงการอ้อยและน้ำตาลทรายจากไทยและนานาชาติร่วมแสดงทรรศนะในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลกสู่อนาคตร่วมกัน ในขณะที่งานกาลาดินเนอร์ จัดขึ้นในธีม ‘Sweetness Connections on the Chao Phraya’ เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์และมิตรไมตรีอันดีระหว่างคู่ค้าและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าจากทั่วโลก”
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการสร้างรายได้รวมต่อปีกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกแล้ว ยังมีส่วนสำคัญสำคัญ ต่อการเติบโต ของ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตแบบทวีคูณของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมชีวภาพ ภาคส่วนเหล่านี้ทำรายได้ให้ประเทศนับล้านล้านบาทต่อปี โดยในปีเพาะปลูก 2560/2561 ผลผลิตน้ำตาลไทยสูงถึง 14.7 ล้านเมตริกตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยนับเป็นผลผลิตอ้อยทั้งหมด 135 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตาม ในปีการเพาะปลูก 2565/2566 ผลผลิตอ้อยลดลงเหลือ 94 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้เพียง 11 ล้านตัน
หลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านนอกจากผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกให้กับพืชชนิดอื่นและการพัฒนาด้านอื่นๆ รวมถึงปัญหาขาดแคลน แรงงาน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว นายปราโมทย์เสริมว่า ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นวาระสำคัญระดับประเทศ ที่ไทยให้ความสำคัญและมีการผลักดันนโยบาย ระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืน โดยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้ปรับใช้แนวทางการเก็บเกี่ยวสีเขียว โดยมุ่งขจัดการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวภายในปีการเพาะปลูก 2566-2567 ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งภายใต้เครือข่ายของไทยชูการ์ มิลเลอร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 20,000 เมตริกตันต่อวัน ยังเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำเพาะปลูก ปรับปรุงคุณภาพและกำลังการผลิต เพื่อให้สามารถส่งมอบ ผลิตภัณฑ์ ที่ปลอดภัย และมี คุณภาพแก่ผู้บริโภคทั่วโลก
“ความยั่งยืนถือเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564-2569 อุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ BCG ที่มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของ องค์การสหประชาชาติ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้นแบบ BCG จึงมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดย TSMC เชื่อมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจจากทั่วโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้” นายปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้าย
* * * * * * * * * * *