วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้สานต่อผลงานของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 โดยครั้งที่ 1 เริ่มดำเนินการแผนปฏิบัติการ “Quick win” 90 วัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และได้มีการขยายผลสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาหมู่บ้านให้ยั่งยืน ในรอบ 2” ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 ภายใต้แนวคิด “จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาเราก่อน” สร้างกระแสรณรงค์ปลูกผักสวนครัวผ่าน “ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง” ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้รณรงค์ให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้เป็นไปตามแนวทางปลูกผักสวนครัวรอบ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยปลูกผักสวนครัว กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น รวมถึงพืชสมุนไพร พริก ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย ฟ้าทะลายโจร เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา ศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า ลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ อีกทั้งเพื่อป้องกันและบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)
โดยขณะนี้พบว่า ได้มีการขับเคลื่อนปลูกผักสวนครัวจำนวน 10 ชนิด ไปแล้วถึง 94.89 % จำนวน 12,281,610 ครัวเรือน โดยพบว่ามีการปลูกครบ 100% จำนวน 20 จังหวัด ประกอบด้วย ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี นครปฐม สมุทรสงคราม เพชรบุรี อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และพัทลุง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้จังหวัดที่เหลือเร่งดำเนินการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการเป็นผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง ขับเคลื่อน ต่อยอด และขยายผลการดำเนินงานตามแนวทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบันทึกรายงานผลการดำเนินงานฯ ในระบบรายงาน Plant for Good Report แบบ Real-Time โดยขอให้ดำเนินการส่งเสริมให้ครัวเรือนปลูกผัก 10 ชนิด พร้อมส่งเสริมให้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน
เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวมีความต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการลดรายจ่ายของครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวทางรอบ 2 อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “จะพัฒนาใครเขาต้องพัฒนาเราก่อน” สร้างกระแสรณรงค์ปลูกผักสวนครัวผ่าน “ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง” โดยใช้ทีมนักพัฒนา 3 ประสานร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนปฏิบัติการ สู่ทุกครัวเรือนคือคลังอาหาร ทุกหมู่บ้านคือศูนย์แบ่งปัน เกิดทักษะชีวิตใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น เกิดชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สร้างโมเดลต้นแบบที่มีความมั่นคงทางอาหาร 878 แห่ง จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบในการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน ให้มีความมั่นคงทางอาหาร มีความพร้อมสู่โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ในพระราชดำริและโครงการตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชนรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้ปลูกผักสวนครัวไม่น้อยกว่า 10 ชนิด ให้ครอบคลุมเต็มพื้นที่ ครบ 100% ทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในครัวเรือน 90% ทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 พฤศจิกายน 2565 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้นำที่เข้าร่วมโครงการทุกกลุ่มเป้าหมายร่วมนำเสนอและแชร์ภาพประสบการณ์การลงมือปฏิบัติปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านช่องทาง Facebook Group “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช.” จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหารไปด้วยกัน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวเชิญชวน