วันนี้ (10 ก.ย. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับภาค จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้แทนกล่าวรายงาน และมีนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอาทร พิมพ์ชนก นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้ประกอบการที่ส่งผลิตภัณฑ์จากผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมในงาน ร่วมงาน พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ระดับภาค อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย น.ส.รติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ รองประธานกรรมการบริษัท ไอริส 2005 จำกัด นายศิริชัย ทหรานนท์ อาจารย์ศมิสสร สุทธิสังข์ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม และ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาคในปีนี้ภาพรวมเป็นไปได้ด้วยดี ทุกภูมิภาคมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก นับเป็นเรื่องดีที่ทุกคนร่วมกันนำแนวพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาเป็นแนวทางให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ตนเองและครอบครัว ความเจริญรุ่งเรืองของผ้าไทยจะต้องพัฒนาจากคนทอผ้าก่อน พระองค์จึงเสด็จลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทรงให้คำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้า รวมถึงเก็บรวบรวมสูตรการทอผ้า การย้อมสีผ้าของแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง
ทั้งนี้ ในส่วนของการการย้อมสีผ้านั้น ควรใช้สีธรรมชาติในการย้อม เลิกใช้สีเคมี เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในสีเคมีไม่สามารถสลายตามธรรมชาติได้ ส่งผลทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสีย รวมถึงในกระบวนการย้อมก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ย้อมเองด้วย จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของท้องถิ่นเอาไว้บนลายผ้า ซึ่งลายผ้าของในแต่ละพื้นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ (Story telling) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต “ผ้าไทย” จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นเครื่องหมายของความเป็นชาติ ไม่น้อยไปกว่าภาษา รวมถึงสามารถแสดงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ซึ่งหากทุกคนไม่ช่วยกันสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงมุ่งมั่น “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมผ้าไทย และส่งเสริมให้คนไทยหันมานิยมสวมใส่ผ้าไทย และร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย จึงเป็นที่มาของ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ การพัฒนาให้ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการนำเอาผ้าไทย ไปตัดเย็บในรูปแบบที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส และเกิดความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้สวมใส่
การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค จะทำให้มีการตื่นตัวในการพัฒนาฝีมือการทอผ้า ทุกเทคนิคของผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้าทุกคน ให้มีคุณภาพมีความหลากหลายและมีการประยุกต์รูปแบบลวดลาย สีสันที่ร่วมสมัยสามารถสวมใส่ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ตามแนวพระดำริโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อันอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยดีอย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน “สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่นี้ เกิดขึ้นได้เพราะพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกาย ในการที่จะช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ด้วยการส่งเสริมการใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำการเกษตรมาทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริม ซึ่งการทอผ้านั้นถือเป็นศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ช่วยให้ประชาชนมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และต่อมาได้มีการพัฒนา ต่อยอด จนเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในปัจจุบัน ซึ่งหลังจากนั้นไปต้นมาแนวทางในการพัฒนาดังกล่าว ได้ช่วยให้พี่น้องประชาชนเกิดรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐบาลจึงได้ขับเคลื่อนผ่าน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยการเชิญชวนพี่น้องทุกสาขาอาชีพที่มีฝีมือรวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม OTOP ให้พี่น้องประชาชนเข้ามาที่ส่วนร่วม ซึ่งเป็นภารกิจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มีส่วนช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้น คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อยากให้พี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้าและกลุ่มหัตถกรรมต่าง ๆ ยึดถือในเรื่องการพึ่งพาตนเอง ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ และให้พัฒนาฝีมือคนในหมู่บ้านชุมชน เป็นหลักการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอยากให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทั้งการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ การพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมให้ดีขึ้น รวมถึงให้ใช้ช่องทางการตลาดทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้จะยั่งยืนได้ ในแต่ละพื้นที่ควรมีจุดศูนย์กลาง ทั้งที่เป็นสถานที่ผลิต โรงเรียน โรงงาน สถานที่จำหน่ายสินค้า แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง พอประมาณ ดังตัวอย่างที่บ้านดอนกอย จังหวัดนครพนม” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวย้ำ
ขณะที่ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้า “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าลายขิดสมเด็จ” อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย และเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรก ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้พระราชทานผ้าลาย “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด ไปสู่เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน
นายนิวัติ กล่าวต่อว่า กรมการพัฒนาชุมชนยังได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กิจกรรมที่ 2 บันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก และกิจกรรมที่ 3 ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าไทยโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย รวมทั้งเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน ทั้งเพื่อคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมจากพื้นที่ 4 ภูมิภาค ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จำนวน 150 ผลงาน รวมถึงเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายต่อไป “กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการเปิดรับสมัครส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวด จำนวน 14 ประเภท โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร ทั้งนี้ มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด จำนวน 2,836 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 283 ชิ้น แยกเป็น ภาคกลาง ประเภทผ้าจำนวน 232 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 70 ชิ้น ภาคใต้ ประเภทผ้าจำนวน 242 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 82 ชิ้น ภาคเหนือ ประเภทผ้าจำนวน 430 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 62 ชิ้น และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผ้าจำนวน 1,932 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 69 ชิ้น โดยกำหนดดำเนินการกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค จำนวน 4 จุดดำเนินการ ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ จุดดำเนินการที่ 1 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา (ดำเนินการแล้ว จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท (ดำเนินการแล้ว) จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ ซึ่งเป็นจุดดำเนินการในวันนี้ จุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17 – 18 กันยายน 2565 ณ โรงแรมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และการประกวดรอบคัดเลือก ในวันที่ 26 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 150 ผืน เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศ ต่อไป” รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว