บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง บริษัท กับ ผู้แทนของ 11 มหาวิทยาลัย ในการร่วมมือกันทางด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ และ การส่งนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงานในบริษัทฯ โดยมี ผู้บริหารจาก บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ดร. อัครพล วีรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักบริหารทรัพยากร และ ผู้บริหารจาก บีอีซี สตูดิโอ นำโดย นายอภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บีอีซี สตูดิโอ นายนพโรจน์ โชติมั่นคงสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและสตูดิโอ และ นายตรัยยุทธ กิ่งภากรณ์ Head of production and Director เข้าร่วมในพิธี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อาคารมาลีนนท์ ทาวเวอร์
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันระหว่าง บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กับ 11 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสยาม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันใน 2 หัวข้อใหญ่ คือ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยทางบริษัทจะได้จัดส่งวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปร่วมให้ความรู้กับนักศึกษาที่สถาบันการศึกษา และการรับนักศึกษาฝึกงานจากทางมหาวิทยาลัยในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อมาฝึกปฏิบัติงานและเพิ่มพูนประสบการณ์จริงในธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง
ดร. อัครพล วีรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักบริหารทรัพยากร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “การร่วมมือกับ 11 มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจจะได้ร่วมกันสร้างบุคคลากรทางด้านอุตสาหกรรมบันเทิง ผมเห็นถึงโอกาสและการเติมช่องว่างในการพัฒนาหลักสูตรและความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน โดยการร่วมมือกันในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆคือ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยทางบริษัทจะได้จัดส่งวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปร่วมให้ความรู้กับนักศึกษา และ การรับนักศึกษาฝึกงานจากทางมหาวิทยาลัยเพื่อมาฝึกและเพิ่มพูนประสบการณ์จริงในธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง”
ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด ได้ร่วมกันจัดทำโครงการที่เป็นการพัฒนาบุคคลกรด้านการเขียนบทมาแล้ว คือโครงการ “ Creator Program: นักคิดมากเรื่อง กับนักเขียนเรื่องมาก” ซึ่งเป็นการอบรมระยะเวลา 10 สัปดาห์ต่อเนื่อง โดยได้จัดการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาบุคลากรในครั้งนี้ ก็ได้มีการส่งนักศึกษาเข้ามาร่วมโครงการและสามารถผ่านการคัดเลือกพร้อมกับร่วมอบรมในหลักสูตร