ในภาพ: นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
ประธานเปิดกิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ: Gender Fair โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายใต้แนวคิด We’re Different, We’re The Same
กิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ: Gender Fair โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายใต้แนวคิด We’re Different, We’re The Same จัดขึ้นเพื่อสังคมไทยเกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยได้รับเกียรติจาก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ประธานเปิดงานฯ พร้อมด้วย นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. รวมทั้งนางซาร่าห์ นิบบซ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เอกอัครราชทูตและอุปทูตประจำประเทศไทย องค์กรเครือข่ายตัวอย่างและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เข้าร่วมงาน จัดขึ้นบริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุง เทพมหานคร (หอศิลป์กรุงเทพฯ) สี่แยกปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “พลังเครือข่ายขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. และผู้บริหารหน่วยงานเครือข่าย
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังทั้งในระดับสากลและในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจด้านการส่งเสริมบทบาทของสตรีและการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women – CEDAW) และการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ด้วยมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะให้สังคมไทยได้ตระหนักถึง การส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียมของผู้หญิง ผู้ชาย และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสามารถเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงการปรับปรุงค่านิยม แบบแผนบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อขจัดอคติที่อยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
รวมทั้งประเด็นท้าทายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ คือ การเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและการรับรู้ของสังคม ให้เปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถเข้าถึงและได้รับสิทธิ หน้าที่ รวมทั้งทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน ควบคู่กับการคำนึงถึงความต้องการจำเพาะระหว่างเพศที่แตกต่างกัน อีกทั้งร่วมสร้างมาตรการกลไกเพื่อขจัดอุปสรรคซึ่งเป็นผลมาจากเพศภาวะ และความทับซ้อนด้วยเหตุและปัจจัยอื่นๆ อันจะส่งผลให้บุคคลเข้าถึงสิทธิ โอกาส และทรัพยากรในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเกิดความเสมอภาคในสังคมอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น การจัดกิจกรรม Gender Fair ในวันนี้ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด We’re Different We’re The Same เพราะเราเชื่อมั่นว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของคนรุ่นเราในศตวรรษที่ 21 คือ การตระหนักถึงคุณค่าในความหลากหลายและผลักดันเป็นความเข้มแข็ง (Diversity becomes strength) และโอกาสแห่งความเท่าเทียมที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน (Equality becomes fairness) ดังนั้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (Drives our society to move foward and live peacefully) กิจกรรมในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน มีหลายหน่วยงาน/องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของความเท่าเทียมระหว่างเพศ และได้นำแนวคิดความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าวไปกำหนดเป็นนโยบายการดำเนินงานและการประกอบกิจการที่สามารถหนุนเสริมเป้าหมายองค์กรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
ภายในงานภายในงานกิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ: Gender Fair ยังมีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จำนวน 18 หน่วยงาน พร้อมด้วยนิทรรศการและการออกบูธจากองค์กรเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษากว่า 30 องค์กรร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปะ Street Art การแสดงโชว์ อย่าตัดสินคนจากเพศที่เขาเป็น จาก ธรรมศาสตร์ พร้อมร่วมรับฟังมุมมองและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวที Gender Talk ภายใต้หัวข้อ สังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ…เริ่มต้นที่เรา พบกับ ศิลปินดารา แลกเปลี่ยนมุมมองและแสดงความคิดเห็นเพื่อแสดงพลังความเท่าเทียม อาทิ บิลลี่ ภัทรชนน อ่อนสอาด, เซ้ง วิชัย แซ่ฟ่าน, ฝ้าย เวฬุรีย์ ดิษยบุตร, ฟรีน สโรชา, รีเบคก้า อาร์มสตรอง
ภาพบรรยากาศภายในงาน
การแสดง “พลังสังคมแห่งความเท่าเทียม” We’re Different We’re The Same จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์