สินิตย์ สั่งกรมพัฒน์ฯ เร่งสานต่อโครงการชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ หรือ Digital Village by DBD ตั้งเป้าเพิ่มอีก 20 ชุมชน ภายในปี 65 พร้อมชู ‘หมู่บ้านเถาเป่า’ (Taobao Village Model) ของจีนเป็นต้นแบบ ย้ำ! อะไรดีก็ต้องนำมาเป็นแบบอย่างและปรับใช้ให้เหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น สนองนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้คนไทยกลุ่มฐานรากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้การค้าออนไลน์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอีกช่องทางหนึ่ง
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) หวังให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชน และเกษตรกรที่มีสินค้าหรือบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ หรือ e-Commerce มาช่วยทำการตลาด เป็นการสร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชน โดยให้นำแนวคิดจาก “หมู่บ้านเถาเป่า” (Taobao Village Model) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชน ที่ห่างไกลโดยใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ในการกระจายผลผลิตของชุมชน ให้เข้าถึงผู้บริโภคในทุกพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่ง “เถาเป่า” ไม่เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน แต่ยังเป็นชุมชน แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้บริโภค เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งในชุมชนที่ห่างไกลการค้าออนไลน์ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ช่วยส่งเสริมให้ชนบทมีการบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นผู้ขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนผ่านเว็บไซต์ในความร่วมมือกับอาลีบาบา
“แนวคิดของหมู่บ้านเถาเป่า นับว่าเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรภายใต้ “โครงการชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ by DBD” เพื่อสร้างสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างผู้นำชุมชนให้มีความเข้มแข็งทำให้ชุมชนมีความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการค้าให้ทันยุคสมัย ดำเนินการผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่การค้าออนไลน์ โดยเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมพัฒนาควบคู่ไปกับระบบ โลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชน เกษตรกร หรือยุวชนในท้องถิ่น ให้สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียง สอนการใช้เครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ การถ่ายภาพสินค้า การบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ การถ่ายทอดเรื่องราวสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Content Marketing และ Story telling) ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าหรือบริการของชุมชน รวมถึงแนะแนวทางการใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการขนส่งเพื่อให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ โดยเน้นย้ำให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามุ่งเน้นพัฒนาทักษะองค์ความรู้ให้คนในชุมชนสามารถมีอาชีพจากการค้าออนไลน์ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินกิจกรรมกระตุ้นการตลาด ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ในวงกว้างทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีการจัดงานโชว์เคส นำเสนอผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นแบบของประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer)”
รมช. พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ต้นแบบของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2562 จนปัจจุบันสามารถพัฒนาชุมชนต้นแบบได้แล้ว 34 ชุมชน ใน 30 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรที่มีทักษะองค์ความรู้สามารถสร้างธุรกิจของตนเองและชุมชนด้วยการค้าออนไลน์ได้แล้วกว่า 1,458 รายทั่วประเทศ และส่งเสริมผลักดันผู้ประกอบการชุมชน เข้าสู่แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ เช่น SHOPEE ผ่านแคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” สร้างมูลค่าการค้าออนไลน์ 59,990,816 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 สร้างอาชีพค้าขายสินค้าและบริการในชุมชนโดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี และการค้าออนไลน์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และสร้างยุวชนคนรุ่นใหม่ให้ต่อยอดธุรกิจของชุมชนต่อไป เล็งเห็นถึงโอกาสในการค้าออนไลน์ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจของไทยรอดพ้นจากวิกฤต COVID-19 ไปได้ด้วยดี และเป็นหนทางในการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรสินค้าชุมชนไปสู่ตลาดระดับสากล เร่งเดินหน้าแผนพัฒนาชุมชนต้นแบบของประเทศไทยในปีงบประมาณ 2565 เพิ่มอีก 20 ชุมชน และผลักดันเข้าสู่แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ที่มีชื่อเสียง เช่น SHOPEE, LAZADA กระตุ้นการประชาสัมพันธ์โครงการด้วยแคมเปญต่างๆ และทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หวังสร้างการรับรู้ในอัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก พร้อมเร่งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรผู้ประกอบการให้มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตต่างๆ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไป”
ผู้ประกอบการชุมชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จะมีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกในช่วง เดือนมกราคม 2565 โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.dbd.go.th สายด่วน 1570 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5959 อีเมล์ : [email protected]
#PoweredByDBD
****************************************
ที่มา : กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 19 / 16 พฤศจิกายน 2564