รู้หรือไม่… ในแต่ละปี เจ้าหน้าที่สายงานกำกับบัญชี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องใช้เวลาในการอ่านรายงานของผู้สอบบัญชีสำหรับงบการเงินงวดไตรมาส และงวดปีรวมกันมากกว่า 500 ชั่วโมง เพื่อเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการตรวจสอบความผิดปกติของงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 700 แห่ง
ก.ล.ต. จึงริเริ่มนำเทคโนโลยี RPA หรือ Robotic Process Automation มาช่วยอ่าน “รายงานของผู้สอบบัญชี” เพื่อระบุงบการเงินของบริษัทที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีแทนเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ตั้งแต่กลางปี 2562 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานด้านกำกับบัญชี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัล
RPA เป็นหุ่นยนต์ซอฟต์แวร์ง่าย ๆ ที่สามารถทำงานแทนเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ได้อย่างอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยเริ่มจากใช้ RPA ดาวน์โหลดงบการเงินของของบริษัทจดทะเบียนและเปิดอ่านหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี เพื่อเก็บ “ความเห็นของผู้สอบบัญชี” และแจ้งเตือนเมื่อพบข้อมูลในรายงานของผู้สอบบัญชีที่แสดงให้เห็นว่า “งบการเงินอาจมีความผิดปกติ” ซึ่งทำให้สามารถระบุงบการเงินที่อาจผิดปกติได้อย่างตรงเป้าหมายและทันเวลา
กระบวนการทำงานทั้งหมดนี้ของ RPA ใช้เวลาเพียงปีละ 64 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเทียบกับชั่วโมง การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ถึง 500 ชั่วโมงแล้ว RPA ช่วยลดเวลาทำงานได้ถึง 87.5%
แม้ว่าในช่วงแรกจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. กับหุ่นยนต์ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะการสอนหุ่นยนต์ซอฟต์แวร์ให้เรียนรู้ keyword ต่าง ๆ ในรายงานของผู้สอบบัญชี เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ตรงตามความต้องการและมีความแม่นยำ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่า เพราะ RPA ทำหน้าที่เป็น “ตะแกรง” ที่กรองในชั้นแรก ที่นอกจากจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ประหยัดเวลาในการอ่านรายงานของผู้สอบบัญชีในเบื้องต้นแล้ว ยังสามารถนำเวลาที่ประหยัดได้ ไปทุ่มเทกับการวิเคราะห์ความผิดปกติของงบการเงินในเชิงลึกอย่างตรงเป้าหมาย
การนำเทคโนโลยี RPA จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน และสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไปพร้อมกัน และยังช่วยคนให้คนรุ่นใหม่สนใจงานด้านกำกับบัญชีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยี RPA จะตอบโจทย์การทำงานด้านกำกับบัญชีได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เพราะการพัฒนาทางเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง ก.ล.ต. จึงมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยขณะนี้สายงานกำกับบัญชีอยู่ระหว่างการนำ AI หรือ Artificial Intelligence และ Big Data Analytic มาใช้ในการวิเคราะห์และตรวจจับงบการเงินที่มีรายการผิดปกติ และการทำรายการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหวังว่าจะได้เห็น “ผลสำเร็จ” ในไม่ช้านี้
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์