Home PR. News ชาวพช.ร่วมกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชาวพช.ร่วมกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

0
ชาวพช.ร่วมกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 28 กันยายน 2564

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานกิจกรรม วันพระราชทานธงชาติไทย เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์ให้เป็นธงชาติไทย พร้อมทั้ง ร้องเพลงชาติไทย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ โดยมีผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ ห้องประชุม 3003 กรมการพัฒนาชุมชน

ธงชาติไทย หรือธงไตรรงค์ เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า
สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

โดยวันที่ 28 กันยายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานธงชาติไทยผืนแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าขายทางเรือในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งธงชาติไทยผืนแรกนั้นเป็นธงผ้าสีแดงเกลี้ยง โดยมีเรื่องเล่าว่า มีเรือสินค้าของฝรั่งเศสแล่นเข้ามาถึงป้อมของไทย แต่ไทยชักธงชาติฮอลันดาขึ้นรับ เพราะว่าไทยไม่มีธงชาติเป็นของตัวเอง ด้วยความที่ฮอลันดากับฝรั่งเศสไม่ค่อยจะลงรอยกัน เรือฝรั่งเศสก็เลยไม่ยอมยิงสลุตรับธงฮอลันดา ฝ่ายไทยจึงต้องแก้ด้วยการนำธงสีแดงเกลี้ยงขึ้นแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุต ตั้งแต่นั้นไทยจึงถือว่าธงสีแดงเป็นธงชาติ
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีธงพื้นแดงที่มีรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผืน ซึ่งธงชาติผืนนี้จะใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ทว่าสำหรับเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงกันอยู่ และยังคงใช้ต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โดยในยุคนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงธงเรือหลวงเพิ่มขึ้นด้วยการนำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ช้างเผือกมา 3 เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงนับว่าธงชาติไทยผืนที่ 3 คือธงพื้นแดง มีรูปจักรและช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลาง จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีการทำหนังสือสัญญาค้าขายกับชาวตะวันตกในปี พ.ศ. 2398 พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดเกล้าฯให้นำเอารูปจักรออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง และยกเลิกการใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอีกต่อไป จนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทย โดยเปลี่ยนให้ใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา และออกประกาศบังคับใช้ธงชาติผืนนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป และในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า เนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้ายๆ กับธงชาติของประเทศอื่นๆ ในช่วงนั้น โดยเป็นธงพื้นริ้วขาว แดง แต่ก็ได้เพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปด้วยอีกสีหนึ่ง เพราะสีน้ำเงินถือเป็นสีประจำพระองค์ ซึ่งธงในปี พ.ศ. 2460 ก็คือธงไตรรงค์ที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง (มีการปรับขนาดเล็กน้อยในสมัยรัชกาลที่ 8)

ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) ซึ่งในวันที่ 28 กันยายน 2564 นี้นับเป็นวันครบรอบ 104 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทย โดยประเทศไทยนั้น ถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ “ธงไตรรงค์หรือธงชาติไทย” จึงถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติ เป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกนึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความสามัคคี เสริมสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ ในการพัฒนาชาติไทยต่อไป