
โครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ คืบหน้าตามเป้า สร้างพื้นที่เกษตรคุณภาพทั่วประเทศ




กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลุยโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเหลือเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรคุณภาพตั้งแต่เรื่องการออกแบบและการวางแผนผังแปลงของพื้นที่ร่วมโครงการ การวางระบบการพัฒนาดิน แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางผังแปลงเพื่อการทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ประมง และปศุสัตว์ และการวางแผนผังปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ตามหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่เยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ จังหวัดปราจีนบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-๑๙ บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ



เกษตรกรจะมีความรู้ความเข้าใจ และเรียนรู้แนวคิด หลักการ และรูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตให้มากที่สุด โดยขณะนี้โครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ดำเนินงานรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และปรากฏผลสำเร็จในพื้นที่เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ



จากข้อมูล ณ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งสิ้น ๒๘,๒๒๔ ราย โดยแยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐,๐๑๖ ราย ภาคเหนือ ๓,๙๕๗ ราย ภาคกลาง ๒,๓๗๖ ราย และภาคใต้ ๑,๘๗๕ ราย นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานในโครงการ ๑๓,๖๔๙ ราย ในด้านการขุดสระเก็บกักน้ำ มีการดำเนินการทั้งหมด ๒๘,๐๑๑ ราย ขุดเสร็จแล้ว ๒๓,๗๒๐ ราย อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ๔,๒๙๑ ราย
ในด้านการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการดำเนินการอบรมเกษตรกรทั้งในรูปแบบปกติและการอบรมแบบออนไลน์ ซึ่งแบ่งการอบรมเป็น ๔ เวที โดยเวทีที่ ๑ นั้นได้มีการอบรมไปเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด ส่วนเวทีอื่นๆ ก็ได้ทยอยอบรมไปแล้วทั่วประเทศ
ในด้านการสนับสนุนปัจจัยการผลิตก็ได้มีการสนับสนุนวัสดุปรับปรุงบำรุงดินแก่เกษตรกร เช่น น้ำหมักชีวภาพ พืชปุ๋ยสด ฯลฯ สนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำ สนับสนุนพันธุ์พืช ทั้งไม้ผล เมล็ดพันธุ์ผัก สมุนไพรฯลฯ สนับสนุนพันธุ์สัตว์ เช่น ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และปัจจัยการผลิตเพื่อทำอาหารสัตว์
นอกจากนั้นยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์สั้น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ บทความทางหนังสือพิมพ์ เป็นต้น รวมไปถึงการจัดทำสื่อออนไลน์ เช่น Youtube Channel, Twitter Account และ Facebook Fanpage
นายสุรเทพ กิจกล้า เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า สำหรับในจังหวัดปราจีนบุรี มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการ ๒๖๗ ราย มีการจ้างแรงงาน ๑๒๙ ราย ในพื้นที่ ๕ อำเภอ ๒๙ ตำบล โดยความคืบหน้าของโครงการในขณะนี้ มีการขุดสระเก็บกักน้ำเสร็จแล้ว ๒๓๖ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘๘.๓๙ และอยู่ในระหว่างขุด ๓๑ ราย โครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีนั้น นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการล้วนมีความศรัทธาและสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการ สภาพพื้นที่มีความเหมาะสม ดินดี ขุดสระได้ เก็บน้ำอยู่ น้ำดี มีต้นทุนการเกษตร นอกจากนั้น โครงการนี้ยังเป็นโครงการแรกของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีการจ้างพี่เลี้ยงจากคนในตำบล ซึ่งทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ในการดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นตัวแทนในประชาสัมพันธ์ข่าวสารการเกษตรในตำบลตนเอง
จังหวัดปราจีนบุรี ได้คัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อม สู่แปลงระดับตำบล ในพื้นที่ ๕ อำเภอ ๒๙ ตำบล เป็นจำนวน ๘๗ ราย และแปลงต้นแบบระดับจังหวัด ๑ ราย ได้แก่ แปลงเกษตร มายด์ฟาร์ม @ บ้านดงยาง ซึ่งมีความโดดเด่นในการวางแผนจัดการฟาร์มทุกกระบวนการอย่างมีเหตุมีผล ตั้งแต่เรื่องการออกแบบและการวางแผนผังแปลงของพื้นที่ร่วมโครงการ การวางระบบการพัฒนาดิน แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางผังแปลงเพื่อการทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ประมง และปศุสัตว์ และการวางแผนผังปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ตามหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการนำตัวอย่างจากโครงการพระราชดำริเกษตรกรรม ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาแบบบูรณาการและโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ มาประยุกต์ พัฒนา และจำลอง (ขนาดจิ๋ว) เพื่อใช้จริง โดยเฉพาะการจัดการน้ำโดยหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในพื้นที่ของแปลง ๔ ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
นายณิชพน เอกพันธ์ เจ้าของแปลงเกษตร มายด์ฟาร์ม @ บ้านดงยางตำบลโนนห้อม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า “ผมได้ทราบถึงโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยส่วนตัวคิดว่า เป็นโครงการที่ดีมากและเชื่อมั่นศรัทธาในเกษตรทฤษฎีใหม่อยู่แล้ว จึงได้สมัครและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้น ก็ได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การขุดสระสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ การอบรมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การวางแผนการผลิตฯลฯ การได้รับปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ปลา และพันธุ์สัตว์ฯลฯ ผมรู้สึกดีใจมากครับที่ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแปลงต้นแบบระดับจังหวัด และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อขยายวิถีแห่งเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อไป”
* * * * * * * * * *