กรมควบคุมโรค ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงฝนตกหนัก พร้อมแนะ 6 วิธีเตรียมพร้อมก่อนน้ำท่วม อาทิ เตรียมน้ำ อาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน ยาโรคประจำตัว สามารถยังชีพได้อย่างน้อย 3-5 วัน พร้อมจดเบอร์โทรหมายเลข 1669 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน, หมายเลข 1784 ด้านสาธารณภัย และ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรคปรึกษากรณีเจ็บป่วย เพื่อความปลอดภัยของชีวิต ลดการสูญเสีย
วันนี้ (12 กันยายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักหลายพื้นที่ ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก ประชาชนควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนน้ำท่วมจากฝนตกหนัก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีประวัติน้ำท่วมมาก่อนหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่ราบลุ่ม และริมแม่น้ำ การเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ดี พร้อมแนะวิธีเตรียมพร้อมก่อนน้ำท่วม 6 ประการ ดังนี้
1.ติดตามข่าวและสถานการณ์น้ำท่วมจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสัญญาณเตือนความผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน อย่างสม่ำเสมอ
2.จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารกระป๋องหรืออาหารแห้ง ยาที่จำเป็นต่างๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาหยอดตา
ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาประจำตัวของผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น อุปกรณ์การสื่อสารพร้อมแบตเตอรี่สำรอง อุปกรณ์ชูชีพ เช่น ห่วงยาง ไฟฉายหรือเทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงใส่ขยะหรือถุงพลาสติกให้เพียงพอ ให้สามารถยังชีพได้อย่างน้อย 3 ถึง 5 วัน และจดเบอร์โทรฉุกเฉินที่จำเป็นไว้ คือ หมายเลข 1669 ขอความช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหมายเลข 1784 และสายด่วนกรมควบคุมโรคหมายเลข 1422 ปรึกษากรณีเจ็บป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง
3.ศึกษาแผนปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของหมู่บ้าน หรือในชุมชน เกี่ยวกับสัญญานเตือนภัยต่างๆ
การติดต่อสื่อสาร เส้นทางอพยพและสถานที่ตั้งที่พักฉุกเฉินหรือศูนย์อพยพในพื้นที่
4.จัดเตรียมช่องทาง หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับหน่วยงานกู้ภัยในท้องถิ่น ชุมชน ในกรณีต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยงได้รับอันตรายจากน้ำท่วม เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ
5.หากมีสัตว์เลี้ยง ให้จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับการดูแลสัตว์ เช่น อาหาร พื้นที่หลบภัยสำหรับสัตว์ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจเกิดมาจากสัตว์สู่คน เช่นโรคฉี่หนู เป็นต้น
6.การจัดเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรือระบบไฟสำรอง รวมทั้งถุงบรรจุทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วม หากจำเป็น
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน ควรเคลื่อนย้ายไปไว้ในจุดที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึงและติดตั้งให้มั่นคง ป้องกันการหล่นน้ำขณะใช้งาน เช่นพัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น พร้อมทั้งยกระดับปลั๊กไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากพื้นที่ที่คิดว่าอาจเสี่ยงต่อน้ำท่วมประมาณ 1-2 เมตร หากไม่สามารถยกระดับปลั๊กไฟได้ ให้ใช้วิธีตัดวงจรไฟฟ้าที่เต้ารับหรือสวิทช์หลักที่น้ำท่วมถึง รวมทั้งตัดวงจรไฟฟ้าโคมไฟที่รั้วบ้าน โคมไฟที่สนาม ไฟกริ่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆที่เดินสายไฟฝังอยู่ใต้ดิน ในกรณีที่ประเมินความเสี่ยงแล้วว่าน้ำอาจท่วม เพื่อป้องกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไฟดูดขณะมีน้ำท่วมเกิดขึ้น
*********************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 12 กันยายน 2564