Home PR. News พช. สนองพระปณิธาน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ กระทำพิธีมอบลายผ้าพระราชทานผ้าบาติกลาย สุดงดงามสื่อวิถีเสน่ห์แดนใต้ สานต่อปณิธานหัตถศิลป์ล้ำค่า “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

พช. สนองพระปณิธาน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ กระทำพิธีมอบลายผ้าพระราชทานผ้าบาติกลาย สุดงดงามสื่อวิถีเสน่ห์แดนใต้ สานต่อปณิธานหัตถศิลป์ล้ำค่า “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

0
พช. สนองพระปณิธาน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ กระทำพิธีมอบลายผ้าพระราชทานผ้าบาติกลาย สุดงดงามสื่อวิถีเสน่ห์แดนใต้ สานต่อปณิธานหัตถศิลป์ล้ำค่า “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

วันที่ 24 สิงหาคม 2564

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีรับมอบแบบผ้าบาติก ลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ภายใต้โครงการสืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นสู่การพัฒนาผ้าถิ่นไทย ให้กับผู้ตรวจราชการกรมเข้ารับแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน จำนวน 3 ลาย เบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี ต่อด้วยการบรรยาย เรื่อง ผ้าลายพระราชทาน โดยนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ รองประธานกรรมการและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุก ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน โดยทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) อย่างเคร่งครัด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปทอผ้า ผลิตผ้าได้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งมอบลายผ้าพระราชทานต่อให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด ได้นำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตลอดจนเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งต่อการเริ่มต้นกิจกรรมการประกวด โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการจัดประกวดผ้าพระราชทาน ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย โดยดำเนินการประกวดในระดับภาค 4 ภาค และระดับประเทศ และได้ดำเนินการ kick off การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเคนทารี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยครั้งนั้นกรมการพัฒนาชุมชนได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย ในโอกาสเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ประกอบด้วย 1) “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” 2) “ท้องทะเลไทย” และ 3) “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์ พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพ และความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป
ในการนี้ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ รองประธานกรรมการและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า ด้วยแรงบันดาลพระทัยจากการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ จึงได้พระราชทานแบบผ้าบาติก ลายพระราชทาน 3 ลายที่พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าบาติกลายพระราชทานนี้ ได้แก่
ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” สื่อถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม ลวดลายประกอบด้วย ลายนกยูง หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นน้ำ หมายถึง ท้องทะเลภาคใต้ ที่มีธรรมชาติอันสวยงาม ,ลายเรือกอและ หมายถึง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของภาคใต้ที่ควรรักษาไว้ ,ลายดอกไม้โปรย สื่อถึงมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ ลายพระอาทิตย์ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ลายกรอบตัว S อักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ท้องทะเลไทย” ด้วยแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าบาติกพระราชทาน ‘ท้องทะเลไทย’ ด้วยทรงพระดำริ ให้เป็นการจุดประกายความคิดเพื่อให้ ผู้คนเกิดจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยอันมีค่า ลวดลายประกอบด้วย ลายกะละปังหา หมายถึง ต้นกะละปังหาที่แตกกิ่งก้านออกเป็นรูปพัด เป็นบ้านของสัตว์ทะเลหลายชนิด ,ลายม้าน้ำ ม้าน้ำที่ขดตัวเป็นอักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่น ลูกคลื่นที่ล้อไปกับอักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง ความห่วงใยใน สิ่งแวดล้อมของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายดาวทะเล หมายถึง สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย ,ลายขอบตัว S อักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ผ้าบาติกลายพระราชทาน ‘ป่าแดนใต้’ สื่อถึงวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ จึงได้ทรงออกแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน ‘ป่าแดนใต้’ ด้วยทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกายความคิด ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบนิเวศอันอุดม ลวดลายประกอบด้วย ลายดอกดาหลาสัญลักษณ์ของดอกไม้พื้นถิ่นภาคใต้ ,ลายนกเงือก 10 ตัว หมายถึง พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังหมายถึงความรักที่ซื่อสัตย์ ,ลายเถาไม้รูปตัว S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นตัว S และลายลูกปลากุเลา หมายถึง ความห่วงใยในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของภาคใต้ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายปารังและลายต้นข้าว สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติม ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอดการพัฒนาผ้าบาติก ลายพระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้า และช่างฝีมือบาติกได้นำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยในทุกภูมิภาคให้ร่วมสมัย สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความปรารถนาดีที่มีต่อปวงชนชาวไทย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ผ่านโครงการสืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นสู่การพัฒนาผ้าถิ่นไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 167 คน แยกเป็นระดับกรม จำนวน 15 คน ประกอบด้วย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 3 คน ผู้ตรวจราชการกรม จำนวน 10 คน และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน และระดับจังหวัด ประกอบด้วย พัฒนาการจังหวัด 76 จังหวัด ผู้แทนกลุ่มทอผ้า จำนวน 76 จังหวัด ซึ่งจะจัดพิธีมอบแบบผ้าบาติก ลายพระราชทานโดยพัฒนาการจังหวัดมอบให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัดต่อไป จึงขอเรียนชาวผ้าบาติก และช่างฝีมือทั่วประเทศ ว่าลายผ้าบาติกพระราชทานทั้ง 3 ลาย ได้แก่ “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” อาจจะมีรายละเอียด ยาก ต้องใช้ความเพียรพยายาม แต่ด้วยพระเมตตาพระองค์ทรงพระอนุญาต ให้ชาวผ้าสามารถนำไปปรับประยุกต์ได้โดยมิทรงหวงห้าม แต่ด้วยวิธีการทำผ้าบาติกในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปไกลมากด้วยเทคโนโลยี ทว่าลักษณะเฉพาะสีสันที่อิงจากธรรมชาติ และอัตลักษณ์วัฒนธรรมรอบตัวของแต่ละชุมชนที่นำเสนอความเป็นภาคใต้ได้เป็นอย่างดี จึงนับได้ว่าผ้าบาติกได้รวมอารยธรรมของภาคใต้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และยิ่งไปกว่านั้น ผ้าบาติกยังกลายเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพให้กับชุมชนหลายชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากงานหัตถศิลป์ดังกล่าว สืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป โดยสามารถดูรายละเอียดลายพระราชทานได้ทางhttps://drive.google.com/drive/folders/1_H3DK2rYW7KNaznkCdUvTFRRbTehNMc- หรือ ผ่านทาง Qr Code และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทุกแห่ง